นายกฯ เรียก ‘พิชัย’ พบ จี้ โชว์แผนควิกวิน ‘เงินดิจิทัล-เบิกจ่ายงบฯ 68’ ฟื้นเชื่อมั่น
‘เศรษฐา’ เรียก รมว.คลังคนใหม่ พร้อม ทีมรมช.คลัง พบ เร่ง โชว์แผนควิกวิน เดินหน้า ‘เงินดิจิทัล-เบิกจ่ายงบฯปี68’ ฟื้นเชื่อมั่น “ลวรรณ” ยืนยัน ดึงเงิน ธกส.1.72 แสนล้าน มาดำเนินการทำได้ตามกฎหมาย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกทีมเศรษฐกิจจากกระทรวงการคลัง เข้ามาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 29 เม.ย.2567 ได้แก่ นายพิชัย ขุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีนางแพทริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ามาพบนายกรัฐมนตรีด้วย
จากนั้นในเวลาประมาณ 15.30 น.ได้ทยอยเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล นางแพลตทริเซีย เปิดเผยสั้นๆ ว่า “ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่สอบถามเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2567”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้านายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงบ่ายนี้จะเชิญ นายพิชัย และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อหารือเรื่องความสำเร็จเร่งด่วน (Quick win) คืออะไร พยายามทำให้ดีที่สุด ยืนยันว่ามีการพูดคุยกันและทุกอย่างจะจบลงด้วยดี
นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีประเด็นสำคัญที่จะมีการพิจารณาเพื่อลงรายละเอียดในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินงานที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบงานต่างๆ ในโครงการให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ คาดว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมกันเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนและร้านค้าได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะมีการหารือและกำหนดรายละเอียดและหลักเกณฑ์ของสินค้าที่ไม่ร่วมรายการ (Negative List) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า (Import Content) ที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะมีเกณฑ์ในการกำหนดอย่างไร
“สำหรับสินค้านำเข้า 100% ที่คณะกรรมการฯ ตัดออกจากสินค้าร่วมรายการไปแล้วคือ น้ำมัน เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต สินค้าดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งยังมีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะกายภาพและโครงสร้างที่ใกล้เคียงกันที่จะได้รวบรวมและนำเสนอในที่ประชุม อาทิ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาสินค้าที่ไม่ร่วมรายการจะต้องพิจารณาร่วมกับหลายหน่วยงาน เพราะบางอย่างถึงจะเป็นสินค้านำเข้า 100% แต่มีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะต้องยืดหยุ่นในหลักการ อาทิ ปุ๋ย ซึ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกร ถือเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการสนับสนุน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น
“สินค้าที่ไม่ร่วมรายการจะต้องมีการพิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ แม้จะเป็นสินค้านำเข้าบางอย่างก็จะผ่อนเกณฑ์ให้ โดยคณะกรรมการจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ต้องเป็นกังวล” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะมีการหารือกำหนดประเภทร้านค้า และคำจำกัดความร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาระบบ อาทิ ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จากกระทรวงมหาดไทย ข้อมูลรายได้ประชาชน จากกรมสรรพากร
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับสัญญาณการผลิตของภาคเอกชนนั้น รัฐบาลยังคงต้องจับตาดูในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ อีกครั้ง โดยหากถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ถือว่าจะเร็วเกินไป ยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เพราะกว่าที่เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบก็จะเป็นช่วงปลายปี
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า จากการที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าพบ นายกรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายงานและส่งมอบภารกิจที่ค้างอยู่ โดยเป็นการประชุมกันภายใน หลังจากนั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ ตามขั้นตอนแล้ว นายพิชัย จึงจะเข้ากระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ และจะมีการหารือรัฐมนตรีและผู้บริหารในกระทรวงว่าจะมีการบริหารงานอย่างไร
“ส่วนตัวเชื่อว่านายพิชัย มีประสบการณ์การทำงานและความรู้ความเข้าใจในด้านนโยบายเศรษฐกิจ และจะเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นนโยบายเรือธงของภาครัฐ” นายจุลพันธ์ กล่าว.
ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)วงเงิน 1.72 แสนล้านบาทนั้นยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อยู่บ่อยครั้งในหลายรัฐบาล อีกทั้งโครงการส่วนมากยังดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ประกันราคาสินค้าเกษตร จำนำข้าว ไร่ละพัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อกังขาและการตั้งคำถามของหลายฝ่าย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ กระทรวงการคลังเตรียมที่จะส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินงานถูกต้องและสร้างความสบายใจให้ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ การใช้งบประมาณจาก ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 สำหรับปีงบประมาณ 2568 จะดำเนินการได้ในวันที่ 1 ต.ค.2567 ส่วนในตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องชดใช้คืนเท่าไหร่ พอถึงเวลากระทรวงการคลังก็จะตั้งโครงการ จัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ แล้วเสนอวาระเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในรายละเอียด.