ยอมรับชะตากรรม! ‘พิธา’ การ ‘อภิปราย ม.152’ อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยอม’รับชะตากรรม! เปรยอาจทิ้งทวน‘อภิปราย ม.152’เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง ลั่นยิ่ง‘ยุบพรรค’ยิ่งทำให้ไปถึงเส้นชัยได้เร็วมากขึ้น ฝากการบ้าน 3 ข้อถึง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ปลุกภาวะผู้นำ ‘ปรับ ครม.-มีโรดแมป-ฟังให้มากขึ้น’ ก่อนมีพระราชกฤษฎีการูดม่านปิดสมัยประชุม

เมื่อเวลา 01.19 น.วันที่ 5 เมษายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เข้าสู่ช่วงดึกของวันที่ 5 เม.ย.

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเป็นคนสุดท้าย ว่า สำหรับการอภิปรายมาตรา 152 ในครั้งนี้ ตนคงต้องขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงความในใจเล็กน้อย ว่า ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ตนไม่เคยเสียใจเลยที่ตนไม่ได้เป็นพวกที่ได้บริหาร ถึงแม้ว่าพวกตนจะชนะเลือกตั้งสามารถที่จะรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งไม่ได้น้อยกว่า 314 เสียงที่ท่านมี ตนไม่เคยเสียใจที่ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะเชื่อว่าการเป็นฝ่ายค้านนั้น ก็มีความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตย การเป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้ สุขภาพของประชาธิปไตยไม่ได้วัดอยู่ที่ว่ารัฐบาลนั้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จแค่ไหน แต่อยู่ที่ฝ่ายค้านนั้นแอคทีฟแค่ไหนและทำงานให้กับประชาชนมากน้อยได้เพียงใด

“แล้วผมก็ไม่เคยเสียใจด้วยว่าการอภิปราย มาตรา152 ในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของผม ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นความลับอะไรทุกคนก็ทราบดีอยู่ว่าชีวิตทางการเมืองของผมตอนนี้ก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมก็พร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่ได้มีอะไรติดค้างใจต่อไป ยิ่งได้เห็นเพื่อน สส.ที่อยู่รอบล้อมผม ไม่ว่าจะเป็นรุ่น1 หรือรุ่น 2 ในการอภิปราย 2-3 วันที่ผ่านมา ผมก็รู้สึกเบาใจไม่มีอะไรที่จะต้องค้างคาอีกต่อไป แล้วก็มั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคของผมไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค ไม่ว่าจะเป็นการทำลายพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยของเรานั้นหายลงไป เผลอๆ ยิ่งยุบพรรค ยิ่งทำให้พวกเราไปถึงเส้นชัยได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำไป” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ถึงตนจะไม่เสียใจ แต่ตนเสียดาย ยิ่งในฟังการชี้แจงของ ครม.ฟังการชี้แจงของรัฐบาลในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตนรู้สึกเสียดายโอกาสของประเทศไทย ตนเสียดายเวลาที่ประเทศไทยที่ต้องเสียไป ตนเสียดายถึงศรัทธาของพี่น้องประชาชน ตนเสียดายที่ส่วนตัวเคยให้คะแนนพรรคจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งตนจำได้ว่าไม่เคยโหวตพรรคอื่นนอกจากพรรคท่าน แต่มาถึงวันนี้ความสะเปะสะปะไร้ร่องรอย จนฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าวาระจริงๆของรัฐบาลชุดนี้คืออะไร ไอ้ที่หาเสียงไว้ก็ไม่ทำ ไอ้ที่ทำอยู่ก็ไม่ได้หาเสียง จนทำให้ตนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ “ไร้วาระ” รัฐบาลชุดนี้ไม่มีวาระเป็นของตัวเองพอไร้วาระ ก็ไร้วิสัยทัศน์ พอไร้วิสัยทัศน์ ก็ไร้ผลงาน อันนี้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันมาตลอดกับสถานการณ์จนตนรู้สึกเสียดายในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธาได้อภิปราย ภาพรวมในการอภิปราย ซึ่งเนื้อหาจะคล้ายกับที่สมาชิกพรรคก้าวไกลได้อภิปรายไปตลอดทั้ง 2 วัน

ในช่วงท้าย นายพิธา กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล 3 ข้อ คือ

1.ถ้าท่านอยากจะกอบกู้ภาวการณ์ผู้นำของรัฐบาล ตนคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับครม.ได้แล้ว เอาคนให้ตรงกับงาน ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะทำงานมา 7 เดือนพอที่จะเห็นภาพ ว่าใครมีประสิทธิภาพ ใครรู้จริงในเรื่องทำอยู่

2.ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะมีโรดแมป ในสิ่งที่จะทำได้แล้ว

    3.การฟัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของคนที่จะเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ตลอดเวลา เพราะบางทีเสียงที่ท่านไม่อยากได้ยินที่สุดก็คือเสียงที่ประเสริฐที่สุด

    จากนั้น เวลา 02.03 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล กล่าวขอขอบคุณประธานและสมาชิกที่ได้ร่วมอภิปราย ตามมาตรา 152 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำหน้าที่ สส.ตามรัฐธรรมนูญ และใช้กระบวนการรัฐสภาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะได้นำข้อห่วงใยเหล่านั้นไปประกอบการพิจารณา ปรับปรุงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

    จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกและวิปทั้ง2 ฝ่าย และได้สรุปผลงานสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. 2566-9 เม.ย.2567

    จากนั้นได้อ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 02.15 น. รวมเวลาอภิปรายทั้งสิ้นจำนวนกว่า 36 ชั่วโมง.

    Login

    Welcome! Login in to your account

    Remember me Lost your password?

    Lost Password