“สมชาย” เชื่อ “พิธา” ไม่รอด ปม หุ้นไอทีวี ยกคำวินิจฉัยในอดีตเทียบ ถือแค่1หุ้นก็ผิดแล้ว

‘สมชาย’ คาด ‘พิธา’ ตกม้าตาย คดีถือหุ้นไอทีวี ซ้ำรอย ‘ธนาธร’ ปมหุ้นไอทีวี ระบุสถานะยังเป็นสื่อ ยก4 ข้อ ฟันธงชัด มีผลประกอบการจากบริษัทลูก พร้อมเทียบคำวินิจฉัยในอดีตมาประกอบ ถือแค่ 1 หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ

วันที่ 23 ม.ค. นายสมชาย แสวงการ สว. โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไมหุ้น ไอทีวี ยังเป็นหุ้นสื่อมวลชน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจคุณสมบัติ และ มีลักษณะต้องห้ามว่า เห็นพรรคการเมือง และ ผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกลออกมาสื่อสารกับสังคมต่อเนื่อง อาจทำให้สังคมไขว้เขว หรือทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เบี่ยงเบน ขาดความน่าเชื่อถือ ตนขอเสนอความเห็นส่วนตัว ดังนี้

1.บริษัท ไอทีวี ยังคงเป็นสื่อ โดยมีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีวัตถุประสงค์ จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อ รวม 5 ข้อ จนถึงปัจจุบันไอทีวียังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท หรือจดยกเลิกวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อดังกล่าว สอดรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 14/2562 วินิจฉัยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ในคดีการถือหุ้น บริษัทวีลัคมีเดีย ที่อ้างว่า ปิดกิจการแล้ว แต่ไม่จดทะเบียนยกเลิกบริษัท ศาลเห็นว่า ยังสามารถประกอบกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ไม่ได้จดเลิกบริษัท

นายสมชาย ระบุว่า 2.บริษัท ไอทีวี ชนะคดีเบื้องต้นแล้ว 2 ยก รัฐต้องคืนคลื่นความถี่ ชดใช้ค่าเสียหาย โดยไอทีวีถูกปิดสถานี และยึดคลื่นคืน เมื่อ 17 ปีก่อน ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ขอให้ สำนัดปลัดสำนักนายกฯ ชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ – คณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ไอทีวีชนะ ได้รับเงินเยียวยา คืนคลื่นความถี่ – สปน. นำคดีสู่ต่อ ศาลปกครองกลาง แต่ศาลพิพากษายกคำร้อง – สปน. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ – สถานะปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำพิพากษา ในคดีนี้ จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองกลาง ให้ไอทีวี เป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ ไอทีวี จึงอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ได้ 3.บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกประกอบกิจการสื่อ มีรายรับ จากบริษัทอาร์ตแวร์มีเดีย ที่ไอทีวี เป็นผู้ถือหุ้น 99% โดยมีผลประกอบกิจการจดทะเบียนทำสื่อโฆษณา รายการให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ แลอื่นๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อ

นายสมชาย กล่าวว่า 4.นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี เพียงแค่เล็กน้อย ทำไมจึงผิด ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวิจฉัยที่12-14/2553 ในคดีถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานรัฐ  ที่ วินิจฉัยให้ รมต. สส. สว.พ้นจากสมาชิกภาพ และเคยวินิจฉัยไว้ว่า หุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเป็นลักษณะต้องห้ามแม้ถือหุ้นเพียง 1 หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ การที่นายพิธา อ้างว่าถือหุ้นไอทีวีเพียง 42,000 หุ้น จาก 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็น 0.0035 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอํานาจสั่งการบริษัท ข้อโต้แย้งนี้นายพิธาจึงฟังไม่ขึ้น ไม่อาจหักล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวางแนวไว้เดิม พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย คดีการถือหุ้นสื่อไอทีวี ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password