“จุลพันธ์” เผย “กฤษฎีกา”ไฟเขียวแจกเงิน “ดิจิทัล” ได้ แต่ต้องยึดตาม มาตรา53

“จุลพันธ์” ระบุ “กฤษฎีกา” ไฟเขียว ออก “พ.ร.บ.เงินกู้” แต่มีข้อเสนอแนะให้คำนึง วินัยการเงินการคลัง จ่อนัดประชุม “คกก.นโยบาย” หาแนวทางฟังความเห็น ยันคิกออฟโครงการ พ.ค.นี้ ขณะ “สมชัย” ชี้ กฤษฎีกาตีตรา ‘ลับ’ ไม่ฟันธงเงินกู้ 5 แสนล. ใครเจื้อยแจ้วทำได้ทำต่อระวังคุก

วันที่ 8 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามของกระทรวงการคลังกรณี การกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า สามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ในประเด็นความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลได้ทั้งก่อน และหลังโครงการ ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตามมาตรา 53 คือ ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วก็เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินการให้ครบถ้วน

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขณะที่ข้อเสนอแนะ คือเรื่องของการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายต้องประชุมเพื่อพิจารณาเชิญทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น

“เลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สรุปให้ที่ประชุมฟังด้วยว่า ในความเห็นนั้นๆ มีความหมายเช่นไร และควรจะดำเนินการเช่นไรต่อ พวกเราก็ในฐานะกรรมการนโยบายหลังจากประชุมกันแล้ว ก็คงจะต้องมีมติว่าเราจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะมา เราต้องรับฟัง ทั้งนี้ยืนยันว่าต้องคงกรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือเป้าหมายเดิมในเดือน พ.ค.” นายจุลพันธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ประเด็นที่ สว.จะขอยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งตนยินดี เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง และทำความเข้าใจ.

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าหนังสือตอบจาก กฤษฎีกา ไปยัง กระทรวงการคลัง เรื่อง พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีการตีตรา “ลับ”

“ลับ” แปลว่าอะไร ตาม ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ เอกสารลับ หมายถึง เอกสารใดก็ตามที่ “เปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์แห่งรัฐ”

ดังนั้น เรื่องนี้ แม้บางคนรู้ บางคนมีสำเนาเอกสารในมือ ก็เอามาเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอ กระทรวงการคลัง หรือ รมว. คลังมาแถลงเอง

แต่ถ้า กฤษฎีกา เขาบอกเพียงอธิบายข้อขัดข้อง ตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลัง ไม่ได้ฟันธงว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แล้วมีคนมาเจื้อยแจ้วว่า ไม่มีอะไรขัดข้อง ทำได้ ทำอยู่ ทำต่อ ระวังเจอข้อหา Fake News จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท ตามที่โฆษกรัฐบาล คุณชัย ขู่ฟอด ๆ เมื่อวันก่อนนะครับ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password