กต.แถลง ยืนยัน แรงงานไทย เสียชีวิต12 ราย ถูกจับ 11คน ขอกลับไทย 1,099 คน
โฆษกกระทรวงต่างประเทศ แถลงยืนยัน “แรงงานไทย” เสียชีวิต 12ราย ถูกจับ 11 คน แจ้งประสงค์ขอกลับไทย 1,099 คน อยู่แถบฉนวนกาซาอีก 5 พันคน
วันที่ 9 ตุลาคม 66 ที่ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าเหตุไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่ กลุ่มติดอาวุธฮามาส ปาเลสไตน์ บุกโจมตีอิสราเอล ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงมีความรุนแรง มีการโจมตีจากจรวดในแถบฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้รัฐบาลอิสราเอลมีความพยายามช่วยเหลือพลเรือนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยทางอิสราเอลยืนยันข้อมูลว่ามีผู้ถูกจับกุมตัวเป็นประกันกว่า 100 คน ไม่ว่าจะเป็นชาวอิสราเอล ฝรั่งเศส เยอรมัน ยูเครน จอร์เจีย แรงงานชาวไทย และอีกหลากหลายชาติ ที่ถูกจับกุมตัว
นางกาญจนา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุยอดผู้เสียชีวิต บาดเจ็บหรือถูกจับเป็นตัวประกันได้ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การสู้รบกันยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลประกาศให้สถานการณ์เป็นสงครามภาวะพิเศษโดยให้กองทัพมีอำนาจรักษาความปลอดภัยควบคุมสถานการณ์ พร้อมประกาศอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ฉนวนกาซา รวมถึงแรงงานชาวไทยทั้งหมด และจะพยายามอพยพออกให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยของพลเรือนฝ่ายรัฐบาลของอิสราเอลให้ความสำคัญ
ส่วนท่าอากาศยานยังคงเปิดทำการปกติ ตอนนี้มีเครื่องบินบินเข้าออกร้อยละ 50 จากจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดก่อนเกิดเหตุ โดยฝ่ายอิสราเอลยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกรณีที่ต้องการอพยพพลเมืองชาวต่างชาติผ่านเครื่องบินพาณิชย์ แต่หากต้องการเดินทางผ่านเครื่องบินประเภทอื่น เช่น เครื่องบินของกองทัพ ก็ติดต่อผ่านทางการอิสราเอลก่อนเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ตอนนี้ทางอิสราเอลยังไม่มียอดผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหรือถูกจับตัวประกัน ไม่สามารถที่จะระบุจำนวนได้ เนื่องจากขณะนี้ยังมีสถานการณ์สู้รบกันอยู่ สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ปิดการเรียนการสอน และสถานที่ราชการของทางการอิสราเอลก็ปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากต้องวิ่งหลบเข้าหลุมหลบภัย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของทางการไทยด้วย
“ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินของไทย ได้รับการยืนยันล่าสุดว่ามีแรงงานชาวไทย เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 8 คน ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน 11 คน ส่วนกระแสข่าวที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่าแรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัว 11 คนได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น ทางการไทยยืนยันว่ายังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ขณะนี้มีแรงงานชาวไทยในอิสราเอล จำนวน 1,099 คนประสงค์ขอกลับไทย ส่วนอีก 22 คน ยังไม่ขอกลับ จากจำนวนทั้งหมด 30,000 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทยอยู่แถบฉนวนกาซาอีกจำนวน 5,000 คน” นางกาญจนา กล่าว
โดยขณะนี้สถานทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล มีแรงงานชาวไทยและครอบครัวได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ยืนยันทางการอิสราเอลได้อพยพแรงงานชาวไทยไปในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่แถบฉนวนกาซาที่มีการสู้รบกัน ซึ่งทางการไทยได้พยายามติดต่อกับทางปาเลสไตน์เช่นกันในการเร่งให้ความช่วยเหลืออีกหนึ่งช่องทาง
“ส่วนการเตรียมพร้อมในการอพยพคนไทยเดินทางกลับประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมร่วมกับกองทัพไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และอีกหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งตอนนี้มีความพร้อมเตรียมแผนอพยพ โดยทางการทูตได้มีหนังสือถึงนายจ้าง แรงงานไทยในอิสราเอล ในการแจ้งความประสงค์ขอกลับไทยตามความสมัครใจแล้ว” นางกาญจนา กล่าว
ทั้งนี้ ทางการต่างประเทศ ขอความร่วมมือที่จะไม่เปิดเผยรายชื่อทั้งยอดเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยัน รวมถึงผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากทางการไทยจะต้องประสานกับครอบครัวโดยตรง ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญพร้อมที่จะเร่งให้ความช่วยเหลือชาวไทยให้ปลอดภัย รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาในขั้นตอนต่อไปอย่างดีที่สุด
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศว่าค่อนข้างล่าช้านั้น นางกาญจนา กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการดำเนินการในสถานการณ์วิกฤติซึ่งมีความละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรอบคอบในการสื่อสาร พร้อมยกกรณีการอพยพคนไทยจากประเทศซูดานเป็นตัวอย่างว่า เป็นกรณีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานล่าช้าเช่นกัน แต่ผลลัพธ์คือประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถอพยพพลเมืองประเทศได้อย่างราบรื่นเช่นกัน แต่บางกรณีไม่สามารถเปิดเผยความคืบหน้าได้ แต่ยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศยังติดตามสถานการณ์และดำเนินการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอด แต่พร้อมน้อมรับคำแนะนำและพร้อมปรับปรุงการทำงาน.