เฟคนิวส์ – เฟซบุ๊ก : ผู้เสียหายฟ้องร้องเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์?

มีข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นมากมายในโลกโซเชียล (Social Media) สิ่งนี้…ได้สร้างความเสียหายต่อประชาคมโลก ทั้งในเชิงปริมาณ (ระบบเศษฐกิจ) และเชิงคุณภาพ (สภาพจิตใจ)ของผู้ตกเป็น “เหยื่อ” อย่างมิอาจจะประเมินมูลค่าความเสียหายได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากนัก

ยุทธศาสตร์ : รายงานพิเศษ

หากนับความเป็น สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม แล้ว อันดับ 1 คงต้องยกให้กับทางค่าย facebook แม้ตัวเลขจะใกล้เคียงกับ เบอร์ 2 อย่าง…LINE ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” เชื่อมต่อสังคมเครือข่ายของกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก และกลุ่มผู้มีความคิดร่วมอุดมการณ์คล้ายๆ กัน โดยเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้ด้อยกว่า facebook มากนัก

แต่กับความกว้างไกลแบบทะลุทะลวง…ไปได้ในทุกพื้นที่ที่โลกออนไลน์จะเข้าไปถึงแล้ว ณ นาทีนี้ คงไม่มีเครือข่ายรายใด? จะหาญสู้กับ facebook ได้เลย

จากตัวเลขสถิติพบว่า ปัจจุบันประชากรไทยมีมากถึงกว่า 71.75 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ใช้งาน Internet มากถึง 61.21 ล้านคน หรือ 85.3% ของประชากร ซึ่งถือว่าค่อนข้างครอบคลุมในประเทศไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) ระบุเอาไว้เมื่อ 23 มิ.ย.2566 ว่า…ในจำนวนคนไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 61.2 ล้านคนนั้น มีผู้ใช้ Social Media มากถึง 52.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด โดยมีแรงผลักดันทั้งจากการดำเนินงานของผู้ให้บริการและการส่งเสริมของภาครัฐ

สอดรับกับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ระบุถึง Social media ซึ่งคนไทยนิยมมากที่สุด ยังคงเป็น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 48.10 ล้านคน หรือราว 91% ของผู้ที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต รองลงมาก็คือ LINE และอันดับ 3 ก็ยังเป็น Facebook Messenger

อีกทั้ง Facebook ก็ยังเป็น Social media ที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุดอีกด้วย รองลงมาก็คือ TikTok และ LINE ตามลำดับ

ขณะที่ Ookla ผู้ให้บริการด้านการทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต ระบุว่า ประเทศไทยมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดข้อมูลด้วย บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) เร็วที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองเพียง ชิลี จีน และสิงคโปร์ ขณะที่โมบาย อินเตอร์เน็ต ของไทยมีความเร็วเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

โดยจำนวนคนไทยผู้ใช้ Social Media 52.3 ล้านคน ส่วนใหญ่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง facebook และ LINE มากที่สุด โดยที่ Tiktok เริ่มมาแรงใน 1-2 ปีหลัง ทั้งนี้ ผู้ใช้ฯส่วนใหญ่ จะมีช่วงอายุ 34-44 ปี 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยความที่ facebook กลายเป็นSocial Media ยอดนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทย ดังนั้น สื่อสังคมออนไลน์ค่ายนี้ จึงมักถูกนำมาใช้เป็นช่องทางการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ เป็นจำนวนมาก…

จากพฤติกรรมในการสร้าง Fake News ของกลุ่มมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ขยายผลความเสียหายจากโลกออนไลน์สู่โลกในชีวิตจริง กระทั่ง กลายเป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับ…บางคน บางครอบครัว และบางธุรกิจ?

มีคำหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ ผ่านการสร้าง Fake News ขึ้นมาหลอกลวงคนไทยและทั่วโลกอย่างมากมาย แต่คง โฟกัสเฉพาะในเมืองไทย…ที่ไม่เพียงขบวนการหลอกลวงเหล่านี้ คาดหวังจะ “ดูดเงิน” จนหมดบัญชีธนาคาร ผ่านสารพัดคำเชิญชวนและการแอบอ้าง…บุคคลสำคัญ คนดัง ผู้มีชื่อเสียง รวมถึงอ้างอิงหน่วยงานและองค์กรของรัฐและเอกชน เป็นจำนวนมาก เท่านั้น

หากยังรวมถึงพฤติการณ์ที่หวังผลจะ “ทำลาย” ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีงาม ของบางองค์กร บางหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐและเอกชน ตามมาอีกด้วย

มีตัวอย่างประกอบรายงานข่าวมาให้ได้เห็นพอเป็นสังเขป อ้างอิงจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น Anti- Fake news Thailand ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนี้…

Anti- Fake news Thailand (3 ต.ค.2566) อ้างถึงกรณี กลุ่มมิจฉาชีพที่ได้ทำการแอบอ้าง กลุ่ม ปตท. ว่า…ได้เปิดให้มีการลงทุนซื้อหุ้น เริ่มต้น 1,000 บาท สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ทั้งที่ความเป็นจริง! บมจ.ปตท. ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า…กลุ่ม ปตท. ไม่มีการดำเนินการดังกล่าวและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวแต่อย่างใด

หรือกรณีข่าวปลอมที่อ้างถึง “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ได้อนุมัติ “พนันออนไลน์” ให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เรื่องนี้ ทาง “โฆษกกระทรวงดีอี- เวทางค์ พ่วงทรัพย์” ก็ออกมาแก้ข่าวตั้งแต่เมื่อ 28 ก.ย.2566 แล้วว่า…ข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ!

ยังจะมีกรณี “ข่าวปลอม” ที่ระบุว่า บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ชวนกู้เงินด่วนผ่านไลน์ ลดต้นลดดอก วงเงินกู้สูง 5,000 – 30,000 บาท ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจาก ผู้บริหารของ บสย. สังกัดกระทรวงการคลัง ในเวลาต่อมาว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเรื่องนี้…ก็เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ ไม่ถึง 24 ชม.นี้เอง

ยังมีเรื่องราวทำนองอีกมาก ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพิ่งออกมาเตือนสติคนไทย เมื่อช่วงสายของ 9 ต.ค.2566 ให้ระหว่างแก๊งมิจฉาชีพต้มตุ๋น “หลอกลงทุนออมทอง” โดยอ้างชื่อร้านทองที่น่าเชื่อถือ ด้วยการหลอกเหยื่อให้สมัครตัวเป็น สร้าง “โปรออมทองราคาดี” เพื่อล่อใจกับผลตอบแทนที่จะได้รับเดือนละ 1 ครั้ง

โดยมีเงื่อนไขให้ต้องหาสมาชิกเพิ่มไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ สตช.ระบุว่า…ช่วงแรกๆ มิจฉาชีพกลุ่มนี้…ก็ทำทีเป็นส่งมอบทองที่ได้ออมไว้และจ่ายผลตอบแทนให้จริง แต่หลังจากนั้น ก็เข้าอีหรอบเดิม…ไม่มีการส่งมอบทองและก็ไม่สามารถติดต่อปลายทางได้…

ทางฝั่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็ไม่น้อยหน้า ถูกแอบอ้างชื่อองค์กรเป็นเครื่องมือในการชักชวนนักลงทุนเข้าไปร่วมลงทุนในหลายๆ เคสท์ แถมบางเคสท์ยัง “เล่นใหญ่” อ้างอิงทั้ง…สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ เจ้าสัวนักธุรกิจระดับชาติ อย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) อีกต่างหาก…

มาดูกัน…กับ Fake News เคสท์นี้…เกิดขึ้นเมื่อช่วง ส.ค.- ก.ย. 2566 นี้เอง โดยมีการอ้างอิงทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลต. และ บมจ.ซีพี ออลล์ (ในเครือซีพี) โดยเฉพาะใช้ทั้ง…ชื่อ โลโก้ (ซีพี ออลล์) และรูปภาพของ “ประธานฯธนินท์” ออกมาโชว์หรา…เพื่อเชิญชวน (หลอกลวง) ให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมลงทุนกับ “กองทุนผู้สูงอายุ” (ดูภาพประกอบข่าว) โดยเริ่มต้นลงทุนเพียง 1,000 – 13,000 บาท (แล้วแต่กรณี) และสัญญาจะจ่ายผลตอบแทนจากการลงทุน 3-7% ต่อสัปดาห์ ย้ำว่า….ต่อสัปดาห์

ทำเอา ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่งไม่ติด! ต้องรีบชี้แจงและส่งสัญญาณเตือนไปยังนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเป็นการด่วน! โดยย้ำว่า..

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งผู้บริหาร และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจหรือโฆษณาชักชวนให้ลงทุนหรือรับข้อมูลลงทุนที่ปรากฏตามสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้น หากเพจ Facebook หรือ LINE หรือ โซเชียลมีเดียใดๆ ที่มีการแอบอ้างชื่อ โลโก้ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือภาพผู้บริหารและพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ชักชวนให้ลงทุน หรือรับข้อมูลลงทุน ขอให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า…เป็นการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ”

ชัดเจนกับหน่วยงาน…อย่าง กระทรวงดีอี, บสย. ในสังกัดกระทรวงการคลัง, สตช. และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง อีกหลายๆ หน่วยงาน ที่ได้แสดงบทบาท “ต่อต้าน” พฤติการณ์โกหก…หลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ผ่านการทำ Fake News และ “ห้ามปราม” มิให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไป ต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการฉ้อฉลเหล่านี้ ได้อย่างเข้มแข็ง!

นี่ยังไม่นับรวมการใช้เครือข่ายSocial Media ทำการ…ใส่ร้ายป้ายสี และให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผ่าน วลีออนไลน์ ทำนอง…“กินรวบ” “เอารัดเอาเปรียบ” “ผูกขาดทางธุรกิจ” และอื่นๆ อีกมากมาย เพียงเพื่อหวังจะทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ “กลุ่มเป้าหมาย” ทั้งที่เป็น…ตัวบุคคล องค์กรและหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน โดยมีการทำกันอย่างเป็นขบวนการ ทำมายาวนานและทำต่อเนื่อง…

ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความสูญเสียในทางสังคม เพียแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน? เพียงใด? ขึ้นอยู่กับว่า…กลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตีด้วย Fake News เหล่านั้น เป็นใคร? และไปกั้นขวางผลประโยชน์ของ “จอมบงการ” ที่อยู่เบื้องหลัง “เกมทำลายล้าง” หนนี้…มากน้อยแค่ไหน? เพียงใด?

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือ องค์กร/หน่วยงาน “ต้นสังกัด” ที่เป็น…เจ้าของช่องทาง (Channel) การสื่อสารในโลกออนไลน์ (Social Media) เหล่านี้…ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการป้องกันปัญหาการใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง เพื่อทำลายคนอื่นๆ ได้ดีและได้มากขนาดไหน? เพียงใด?

ทีนี้ลองหันไปดูทางฝั่ง…เจ้าของช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น… facebook LINE YouTube IG และอื่นๆ โดยเฉพาะ “เบอร์ 1” อย่าง… facebook ภายใต้การดูแลของ บริษัทแม่ อย่าง…Meta พวกเขาได้แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่? อย่างไร?

แม้ตัว facebook เอง จะไม่ใช่ “ต้นเรื่อง” ของสารพัดปัญหาการหลอกลวงในโลก Social Media แต่การปล่อยให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ได้ใช้ “พื้นที่ – สื่อสังคมออนไลน์” ของตัวเอง ทำการหลอกลวงนักลงทุนและประชาชนทั่วไปอย่างนี้ มันคงไม่ต่างจากวลีการเมืองที่ว่า “พายเรือให้โจรนั่ง” สักเท่าใด?

พฤติการณ์ “นิ่งเฉย” ของทางฝั่ง Meta เจ้าของ facebook นี้เอง ทำให้ กระทรวงดีอี ถึงกับออกอาการไม่พอใจอย่างที่สุด! ลึกๆ ถึงขั้นเกิดข่าวลือที่ว่า…รัฐบาลไทยอาจเดินตาม 4 ประเทศ (จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเติร์กเมนิสถาน) ที่ได้ “ปิดกั้น” สื่อสังคมออนไลน์ค่ายนี้ (ไม่นับรวมที่บางประเทศเคยปิดกั้น Facebook ในหลักวันหรือหลักเดือน เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เวียดนาม เมียนมา เป็นต้น) ไปแล้ว

แม้ในข้อเท็จจริง! กับจำนวนผู้ใช้ facebook ในประเทศไทยที่มีมากถึงกว่า 48 ล้านคน ดังนั้น การจะ “ปิดกั้น – facebook” ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ กระนั้น กระทรวงดีอี ก็พยายามจะขอให้ Meta ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทยและความเสียหายที่เกิดขึ้นมาบ้าง

ปลาย ส.ค.2566 เช่นกัน ที่ กระทรวงดีอี ได้ออกมาพูดถึงการ เปิดบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อล่อลวงให้คนเข้าไปลงทุน และเรียกร้องให้ Facebook ได้วางมาตรการในการสกรีนบัญชีให้มากขึ้น เพราะบัญชีมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ลงทุนโฆษณากับทาง Facebook เพื่อหลอกลวงประชาชน

แต่ Facebook กลับนิ่งเฉย และปล่อยให้มีการโฆษณาโดยไม่ปิดกั้น จนเกิดเป็นความเสียหายตามมานับพันล้านบาท!!!

ทางFacebook ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า…มีสมาชิกหลายคนที่ผูกบัญชีธนาคารไว้กับ Facebook แล้วถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว ก่อนจะโดน “ดูดเงิน” ออกไป และยังไม่นับรวมกรณีที่มีการ “แฮคเฟซ” เอาข้อมูลส่วนตัวไป “สวมรอย” ทำธุรกรรมผิดกฎหมาย จากกลุ่มธุรกิจสีเทาและสีดำ

เหล่านี้…ก็ล้วนจากการใช้พื้นที่และซื้อโฆษณากับทาง Facebook ทั้งสิ้น!

แม้ทาง Facebook จะอ้างว่า…ที่ผ่านมา พวกเขาได้ทำการ พัฒนาระบบความปลอดภัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การล็อคอินด้วยระบบความปลอดภัยหลายชั้น หรือการใช้การติดต่อผ่านช่องทาง Customer support ที่เปิดให้มีการพูดคุยในFacebook messenger ได้…แล้วก็ตาม แต่นั่น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันชั้นดีว่า…สมาชิกบางรายจะไม่โดน “แฮ็ก” ข้อมูล…ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายอย่างมากมายตามมา

ในทางกลับกัน แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เร่งยกระดับความรู้ให้กับประชาชนในประเทศตัวเอง เพื่อสร้าง Media Literacy หรือ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ทว่าปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดี…

การ “ปิดกั้น – Facebookของกระทรวงดีอี คงไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่การเปิดทางให้ผู้เสียหายจากช่องทางเครือข่ายฯ ได้ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับทาง Facebook ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน

มีกรณีศึกษาในต่างประเทศ…เหตุเกิดเมื่อปี 2564 หลังเกิดเหตุ Facebook ทำข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรยุโรป (ชื่อ, เบอร์โทร, ที่อยู่ และวันเกิด) หลุดครั้งใหญ่กว่า 533 ล้านบัญชี กระทั่ง ถูก องค์กรด้านสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลดิจิทัลของประเทศไอร์แลนด์ ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแทนประชากรยุโรป สูงสุดต่อรายคิดเป็นมูลค่า 12,000 ยูโรคิด หรือกว่า 450,000 บาทเลยทีเดียว

แม้จะได้รับการปฏิเสธจาก ผู้บริหารระดับสูงของ Facebook ด้วยสารพัดข้ออ้างใดๆ ก็ตาม แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า…เรื่องจะจบลงอย่างไร?

หาก เป็นคุณ กับทางฝั่ง “ผู้เสียหาย” แล้วล่ะก็…เคสท์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งพบว่า…มีข้อมูลที่หลุดออกไป “ลึก” ยิ่งกว่าแค่…ชื่อ, เบอร์โทร, ที่อยู่ และวันเกิด เพราะถึงขั้นที่บางราย…ถูก “ดูดเงิน” ออกจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับ Facebook รวมถึงถูกหลอกลวงให้ข้อลงทุนกับ “เพจฉ้อฉล” ที่จ่ายเงินเป็นค่าโฆษณาและใช้พื้นที่ของ Facebook ทำมาหากิน…หลอกลวงคนไทย

ถึงตอนนั้น…คงได้เห็น แรงกระเพื่อม! จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในโลกโซเชียลฯกันบ้าง.ทีมข่าวยุทธศาสตร์

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password