“เศรษฐา-ชลน่าน” ประสานเสียง ยันไม่เคยพูดว่า แก้รธน.เสร็จ แล้วจะ “ยุบสภา”
‘เศรษฐา’ เมินโต้ ‘ก้าวไกล’ จับผิด “ชลน่าน” ปมแก้รธน.แล้วจะยุบสภา บอกประกาศในครม.ชัดเจนแล้ว ขณะเจ้าตัว รับไม่สามารถตอบในนามรัฐบาลได้
วันที่ 16 ก.ย.2566 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ไม่เคยพูดว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา จนมีการนำไปเปรียบเทียบตอนที่แยกกับพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ที่ระบุว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ตอนนี้รัฐบาลมีความชัดเจนอย่างไร ว่า ชัดเจน แถลงไปแล้ว ว่าจะทำคณะทำงานเข้ามาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ เพื่อนำเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นเวที ที่จะใช้เป็นเวทีถกเถียงกันในประเด็นความเห็นที่แตกต่างซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ประกาศไปแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดแรกชัดเจน
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รก.หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คำสัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ว่าไม่เคยพูดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา แต่โลกออนไลน์มีการขุดคำสัมภาษณ์ก่อนหน้าที่นพ.ชลน่าน จะประกาศแยกตัวจากพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่าหากทำรัฐธรรมนูญเสร็จจะคืนอำนาจให้ประชาชน
โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าให้ตอบในนามจุดยืนของรัฐบาล ตนไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องพูดคุยกัน ซึ่งเราเริ่มต้นด้วยการทำงานกับพรรคก้าวไกล ในการจัดตั้งรัฐบาลแต่ MOU กับพรรคก้าวไกล ก็ถูกยกเลิกไปทำให้ต้องมาจับมือกับ 11 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเราเองก็มีเจตนาที่จะทำเหมือนที่ทำ MOU กับก้าวไกลคือต้องไปทำประชามติก่อน ถ้าพี่น้องประชาชนเห็นชอบด้วยว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามคือถ้าเราพ่วงคำว่าการตั้งสสร.มันก็จะมีคำตอบตรงนั้น และเอาคำตอบตรงนั้นมาแก้ 2 ระบบผ่านกระบวนการรัฐสภานำไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ เมื่อทำประชามติหมายความว่ารัฐธรรมนูญถูกแก้ก็จะมีการยกร่าง ใช้เวลากี่เดือนก็ว่ากันไป และจะเข้าสู่กระบวนการนำเสนอเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำประชามติขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำมาใช้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนจะมีการยุบสภาหรือไม่ต้องไปดูบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าทำเสร็จในเวลาเท่าไหร่ หากทำเสร็จเร็วก็จะเป็นเงื่อนไขว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการพี่น้องประชาชนได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลไม่ได้ผูกมัด
เมื่อถามว่าต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ในเรื่องการยุบสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มันเป็นขั้นตอนที่เราเขียนไว้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติถ้าเราทำเองในฐานะผู้ดูแลเรื่องนี้ก็ต้องไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา เรื่องกระบวนการวิธีการว่าเขาจะเห็นด้วยตามนี้หรือไม่อย่างไร หากมีมติเห็นชอบตามนี้ก็ต้องผลักดันไปตามนี้ ทั้งนี้ต้องคุยกันและต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่ว่าจะเกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชน.