“หมอวาโย” ก้าวไกล อภิปราย จัดหนัก3รมต. “อนุทิน-เอนก-วราวุธ” แก้ปัญหาชาติล้มเหลว

‘หมอวาโย’ จองกฐินสวด 3 รมต. ฉะ ‘อนุทิน’ ฉีดซิโนแวคให้เด็ก เตือนเสี่ยงผลข้างเคียง เหตุยังไม่มีผลการศึกษารองรับ อัด ‘เอนก’ ไม่สนใจชะตากรรมเด็กไทยพลาดสอบทีแคส แฉ ‘วราวุธ’ โป๊ะแตกเอาปูตัวอื่นมากินโชว์ ไม่ใช่ของ ‘ส.ส.เบญจา’

วันที่ 18 ก.พ. 2565 เวลา 10.05 น. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี” วันที่สอง มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เป็นประธาน โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ของ กระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันดูแล้วพอใช้ได้ แต่ข้อมูลที่แท้จริงใน 70% มีคนฉีดวัคซีนชนิด เชื้อตาย 2 เข็มอยู่ 16.17% ทำให้ต่อกรกับ สายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอน ได้เพียงกว่า 50% เท่านั้น ตอนนี้ยังเหลือเค้กก้อนโตที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือ เด็กอายุ 0-12 ปี จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แม้ว่าตอนนี้องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้เด็ก อายุ 5 ปีขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม แต่เกิดข้อน่าสงสัย ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า จะมีการนำวัคซีนซิโนแวค มาฉีดให้เด็กอายุ 3 ปี ทั้งที่ทั่วโลกเขาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มให้กับเด็ก

นพ.วาโย อภิปรายว่า โดยนายอนุทิน และ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมารับลูกสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคกับเด็ก แม้ว่ายังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายในเด็ก และผลการศึกษาของต่างประเทศ ก็ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ฉีดไปก็ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงด้วย และถามว่าทำไมตอนนี้ ยังมีวัคซีนซิโนแวคอยู่ ยังเหลืออีกหรือ หรือว่าแอบสั่งมาเพิ่ม เพราะวัคซีนเชื้อตายในผู้ใหญ่ ข้อมูลถึงทางตันแล้ว พบว่าใช้ไม่ได้ แต่มาผลักดันใช้ในเด็ก คนไทยเป็นหนูทดลองไม่พอ ท่านยังเอาลูกหลานมาเป็นหนูทดลองต่อ ตนขอส่งเสียงดังๆ ถึงหมอเด็กว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ก็ต้องออกมา

ชะตากรรมของเด็กไทยสอบทีแคส หากติดโควิด-19 แล้วหายไม่ทันก่อนสอบจะทำอย่างไร แต่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลับบอกว่าให้ไปสอบปีหน้า หรือเลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสอบ รวมทั้งหากไม่ได้สอบก็ขอเงินคืนไม่ได้ เพราะบอกว่าเป็นการสร้างภาระ รวมถึงก่อนเข้าสนามสอบก็ไม่มีมาตรการตรวจเอทีเคให้ อีกทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสนามสอบก็ไม่ดีพอ

ส่วนชาตะกรรมของผู้ใหญ่คนไทย ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวมล้อม (ทส.) ตอบคำถาม น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องน้ำมันรั่ว ตนฟังได้ความรู้มากมาย แต่ก็งงว่าสรุปน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่ 4 แสนลิตร หรือ 1.6 แสนลิตร หรือ 5 หมื่นลิตร ขณะเดียวกันได้ เทสารเคมีเพื่อให้น้ำมันกระจาย 6-7 หมื่นลิตร สรุปน้ำมันรั่ว 5 หมื่นลิตร แต่เทสารเคมี 7 หมื่นลิตร จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่า บริษัทผู้ผลิตสารเคมีแนะนำการใช้สารเคมี 1 ต่อ 20 หรือ 1 ต่อ 30 เพื่อได้ผลลัพธ์การบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นได้อนุมัติให้ใช้สารเคมี 4 หมื่นลิตร ต่อมาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3.64 หมื่นลิตร จากนั้นอนุมัติเพิ่มอีก 9 พันลิตร ตนจึงตั้งคำถามว่าน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่

“สุดท้ายน้ำมันก็เข้าสู่ชายฝั่ง จนทำให้พี่น้องชาวประมงเจอสัตว์น้ำที่มีน้ำมันติดมาด้วย ซึ่ง น.ส.เบญจา หวังดีเอาปูมาให้มารัฐมนตรีกิน แต่ไม่ได้เอาน้ำจิ้มมา แต่นายวราวุธ ได้แขวะ น.ส.เบญจา ว่า ทำไมไม่เอาน้ำจิ้มมา และยังกินปูโชว์ว่าปลอดภัย แต่ น.ส.เบญจา ได้ถ่ายรูปปูทุกตัวไว้ บอกว่า ลายปูและหนังยางที่รัดไว้ไม่เหมือนกัน ขนาดเรื่องปูยังเอาตัวอื่นมากินเลย” นพ.วาโย อภิปราย

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password