รบ.สั่งแบงก์รัฐหั่นกำไร! อุ้มภาคธุรกิจสู้สหรัฐขึ้นภาษี – ‘ออมสิน’ ผุดสินเชื่อ Soft Loan แสนล. พ่วงหั่น ดบ.ช่วยลูกค้าลงอีก 2-3%

คลังรับลูกรัฐบาล! สั่งแบงก์รัฐหั่นกำไร ผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ รับมือวิกฤติกำแพงภาษีสหรัฐ หวังเทใส่งบช่วยเหลือผู้ประกอบการ พ่วงลดดอกเบี้ย ตั้งเป้าช่วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก เผย! พร้อมอุดหนุนแบงก์รัฐที่ได้รับลกระทบจากการลดกำไร ลั่น! นัดหมายแบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยคุย หวังให้ช่วยลูกค้าภาคธุรกิจ ด้านแบงก์ออมสินโชว์เหนือ นำร่องผุดโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับลูกค้าข้างต้น พร้อมหั่นดอกเบี้ยลงอีก 2-3% ช่วยเหลืออีกระลอก

วันนี้ (15 พ.ค.2568) เวลา 13.00 – 14.30 น. ณ หอประชุมบุรฉัตร อาคาร 1 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประชุมมอบนโยบายให้กับ ผู้บริหารของสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล  โดยมี นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะ ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมด้วย ผู้บริหารสมาชิกสมาคมฯ ทุกแห่งร่วมประชุม

นายพิชัย ชุณหวชิร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วน นั้น

กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย

ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่ง จะกลับไปคิดแผนดำเนินงานและนำมาเสนอตนให้เร็วที่สุด โดยมีกรอบเวลา 90 วัน (เริ่ม 9 เม.ย.2568) ที่รัฐบาลสหรัฐฯผ่อนปรนมาตรการภาษีให้กับไทย ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้เป็นตัวกำหนดว่าจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จก่อน สำหรับสัดส่วนที่ สถาบันการเงินของรัฐ ควรจะลดผลกำไรเป็นเท่าใดนั้น รัฐบาลไม่ได้กำหนด แต่จะต้องไม่กระทบสถานะและการดำเนินงานของตน พร้อมยกตัวอย่างของ ธนาคารออมสินที่ยอมลดกำไรลงราวร้อยละ 20 ต่อปี เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือลูกค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของธนาคารฯ อย่างไรก็ตาม หาก สถาบันการเงินของรัฐ แห่งใด ที่ยอมลดผลกำไรแล้วส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ขอให้แจ้งมายังตนเพื่อจะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้วยการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือสถาบันการเงินของรัฐนั้น

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารออมสิน ได้คิดแผนดำเนินงานที่นำเสนอคือ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม

ส่วน สถาบันการเงินของรัฐอื่น ก็เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

“ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว” รองนายกฯและรมว.คลัง ระบุและว่า…

ตนจะประสานไปยัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนัดหมายประชุมร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในนาม สมาคมธนาคารไทย เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าใน 3 กลุ่มข้างต้น ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ด้าน นายวิทัย กล่าวเสริมว่า โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท แตกต่างจากโครงการลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดกว้าง โดยปัจจุบัน มีการให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับลูกที่อัตราดอกเบี้ย 3.5% แต่สำหรับ โครงการสินเชื่อ Soft Loan นี้ จะเน้นไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ซึ่งหากมีความต้องการสูงกว่าวงเงินจำนวนนี้ และเป็นนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินก็พร้อมจะเพิ่มวงเงินให้มากตามความต้องการของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ

โครงการสินเชื่อ Soft Loan เดิมนั้น ปัจจุบัน ปล่อยกู้ไปแล้วราว 7.5 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับ โครงการสินเชื่อ Soft Loan ตัวใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว เชื่อว่าคงจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ก็จะมีการประชุมสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อติดตามถึงเรื่องดังกล่าว” นายวิทัย กล่าวและว่า…

แม้ธนาคารออมสินจะยอมลดกำไรลงมา เพื่อนำเงินมาดำเนินโครงการในลักษณะช่วยเหลือสังคมและภาคธุรกิจ แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังจะลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าปัจจุบันที่ได้รับกระทบฯในอัตรา 2-3% โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาเจรจาและรับเงื่อนไขการลดดอกเบี้ยดังกล่าวในสัปดาห์หน้า.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password