นายกฯร่วมประชุม ‘บอร์ด AI แห่งชาติ’ นัดแรก มุ่งเทคโนโลยี AI เป็นระบบทั่วไทย สร้างบุคลากรเต็มที่ เท่าทันโลกอนาคต

“นายกฯแพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะประชุมแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ตั้งเป้าอัพไทย! ก้าวสู่ชาติชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในภูมิภาค ประกาศตั้ง National AI Committee วางกรอบและเตรียมความพร้อม สร้างกำลังคนด้าน AI รองรับความต้องการ พ่วงสร้างความรู้ให้ AI User ตั้งเป้าเกิน 10 ล้านคน, AI Professional เกิน 9 หมื่นคน และ AI Developer ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ทั้งหมดทำภายใน 2 ปี
วันนี้ (1 พ.ค. 2568) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมปะชุมฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม และชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายการพัฒนา ให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึง ความเร่งด่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ให้มีความพร้อมต่อการสร้างรายได้ และพัฒนานวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนา ในช่วงเวลา 2 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) การพัฒนากำลังคนในทุกระดับ ให้มีทักษะที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
2) ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้เทคโนโลยี เช่น การสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ฐานข้อมูล (Database) และ โมเดล (Model) รวมถึง การสร้างระบบนิเวศของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความพร้อมใช้งานให้กับทุกภาคส่วน
และ 3) ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องไปพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมประยุกต์ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) เพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง ที่ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ
น.ส.แพทองธาร ยังได้เน้นย้ำและสั่งการให้ คณะกรรมการฯ ดำเนินการสร้างเครือข่ายในลักษณะของ Consortium ที่เน้นการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาล รวมถึงหน่วยงานวิชาการ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการกำหนดทิศทางการพัฒนา มีลักษณะเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง
สำหรับการประชุมครั้งถัดไป นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำเสนอโครงการขับเคลื่อนที่สำคัญพร้อมกรอบวงเงินงบประมาณ ตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ เพื่อเร่งการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้มีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ต่อไป
ด้าน น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมฯ รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) รับทราบ ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2567) และรับทราบ ความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025 พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกรอบการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National AI Program) พร้อมทั้งให้นำข้อเสนอในที่ประชุมไปพิจารณาต่อ
สำหรับการตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) เพื่อกำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้มีจำนวนเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน สำหรับเป้าหมายที่จะต้องมีการสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่เป็น AI User นั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10,000,000 คน AI Professional ไม่น้อยกว่า 90,000 คน และ AI Developer ที่ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ภายในเวลาสองปี
นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จีพียู และการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) ให้เพียงพอ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในราคาที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Bank) ที่จะรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา AI ในสาขาต่าง ๆ
“สำหรับข้อมูลภาครัฐ มุ่งส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับตัวให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปี 2569 คาดว่า การลงทุนด้านโครงสร้างเหล่านี้ จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศประกอบกัน ส่วนการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในงานธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะมุ่งเน้นสาขาที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมเป็นหลัก เช่น การสาธารณสุข การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI จะส่งผลให้การแพทย์ของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในอาเซียนได้ ยกระดับการท่องเที่ยวทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่าย อีกทั้งการใช้ AI ด้านการเกษตรจะทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตที่สูงขึ้น และสามารถทำงานด้านการพาณิชย์และตลาดอย่างตรงเป้าอีกด้วย โดยคาดว่าการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อบริการสาธารณสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเร่งการประยุกต์ใช้ AI รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศเพื่อบูรณาการ การทำงานด้าน AI ในแต่ละสาขาร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบต่อไป” น.ส.ศศิกานต์ กล่าวสรุป.