ถึงเวลา ‘ยกเครื่อง’ หน่วยรับมือ ‘ภัยธรรมชาติ – ภาวะสงคราม’ กันเสียที!

วันเดียวกับที่คนไทยพอรู้สึกเบาใจ (29 มี.ค.2568) ต่อการที่ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร มีความเห็นสอดรับกับกระแสสังคม โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย กับข้อสังเกตที่ว่า…เหตุใดเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา แต่กลับมีเพียง 1 ตึกเท่านั้นที่ถล่มลงมา?
ก่อนจะย้ำว่า…ตนจะไม่ปล่อยและตามไปดูว่าเหตุที่ตึกเดียวมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร
โดยที่…นายกฯแพทองธาร ได้ทำการแต่งตั้ง คณะกรรมการฯขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จ และให้แจ้งผลการสอบภายในหนึ่งสัปดาห์
ช่วงสายก่อนหน้านั้น (วันเดียวกัน) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและ รมว.คมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ได้ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอลเฟอร์เรนซ์ ไปยัง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
เพื่อ…ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงนี้
นี่…น่าจะเป็นอีกหนึ่งการแสดงภาวะ “ผู้นำ” ของ นายกฯแพทองธาร ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักของประเทศไทย
ประเด็นที่ดูเหมือน นายกฯแพทองธาร จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ! กรณีเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ คงไม่พ้น 2-3 เรื่องสำคัญคือ…
หนึ่ง…เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงทำการจัดส่งข้อความ SMS แจ้งไปให้ประชาชน ได้ล่าช้าและส่งได้ครั้งละเป็นจำนวนน้อย เพียงแค่ 2 แสนเบอร์ (คน)/ครั้ง ทั้งที่ควรจะมากกว่า 1-3 ล้านเบอร์ (คน)/ครั้ง
สะท้อนภาพความล่าช้าและไม่ทั่วถึง!!!
สอง…ทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไทย ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะค้นหาข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น ทั้งเรื่องการปฏิบัติระหว่างเกิดเหตุฯ และเช็คข้อมูลการเดินทาง รถไฟฟ้าเส้นไหนเปิดหรือปิดให้บริการ ถนนเส้นไหนเดินทางไปได้หรือไปไม่ได้
กับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดูเหมือน ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะหูหนวก ตาบอด จะรู้ว่าจะต้องทำอะไร? และทำอย่างไร เพื่อให้ตัวเองอยู่ในจุดที่ปลอดภัย รวมถึงเดินทางกลับบ้านพักได้โดยสวัสดิภาพและรวดเร็ว
สาม…แล้วจะสร้างระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าได้อย่างไร? แม้ว่าเรื่องนี้…ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะแจ้งว่า…“เรื่องการเตือนภัยล่วงหน้าการเกิดแผ่นดินไหว ยังไม่มีเทคโนโลยี”
ถึงตรงนี้…อยากให้ รัฐบาลและสังคมไทย จดจารึก! กับคำตอบของ ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ยืนยันว่า…ขณะนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะทำการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าว่าในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น
เท็จจริง…รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องประสานขอข้อมูลจากประเทศที่อยู่พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะรัฐบาลญี่ปุ่น
“จริงหรือไม่ที่เทคโนโลยีในทุกวันนี้ มิอาจจะแจ้งเตือนประชาชนของตัวเอง ก่อนหน้าจะเกิดแผ่นดินไหว!!??”
เหตุที่ต้องหยิบเอาเรื่องนี้ มาตั้งเป็นประเด็นข้อสังเกต เนื่องจากก่อนหน้าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียน (บ่ายของ 28 มี.ค.2568) นั้น ได้ปรากฏข้อความเตือนเรื่องแผ่นดินไหวล่วงหน้า 2 วัน (26 มี.ค.2568) จากเพจศูนย์ข่าวแผ่นดินไหว ซึ่งเป็น NGO ของประเทศเมียนมา ที่เคยแจ้งเตือนชาวเมียนมาทำนอง…
“ให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.0 ภายใน 48 ชั่วโมง ในต่างประเทศ (โดยเฉพาะที่เนปาลและฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมียนมามากนัก)
เวลาต่อมา เพจดังกล่าวได้ทำการแก้ไขข้อความ 1 ครั้ง โดยให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหว 7.0 ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง โดยมี มีผู้เข้ามาอธิบายว่า…“การเตือนครั้งนี้ เนื่องจากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่หลายแห่งในบริเวณ อินเดีย และ สุมาตรา ทำให้ต้องประกาศเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหวขึ้น”
ประเด็นคือ เหตุใด? เพจ NGO ของประเทศเมียนมาจึงได้รู้และแจ้งเตือนคนในประเทศของตนได้ล่วงหน้า 2 วัน
ตรงนี้ มันขัดแย้งกับสิ่งที่ ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา บอกกับ นายกฯแพทองธาร และคณะรัฐมนตรี ในวันที่เดินทางเข้าร่วมประชุม ณ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
แน่นอนว่า…เรื่องทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ทางธรรมชาติ หรืออาจเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง (สงคราม) การเตรียมความพร้อมและการแจ้งเตือนล่วงหน้า รวมถึงเมื่อยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ท่ามกลางสถานกาณ์เลวร้ายต่างๆ นั้น
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องมีแผนรับมืออย่างทันท่วงที ทั้ง รวดเร็วและทันเหตุการณ์ ทั้ง ครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึง แจ้งเหตุ (ข้อความ) ได้ตรงกับสถานการณ์จริง เพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่เฉพาะ ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถจะรับรู้อย่างเท่าทันและวางแผนรับมือกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ได้อย่าง…คนที่หูไม่หนวกและตาไม่บอด เหมือนที่แล้วๆ มา
วันนี้..คงถึงเวลาแล้วที่ นายกฯแพทองธาร จะทำการ “ยกเครื่อง – ผ่าตัดใหญ่” กับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุร้ายในอนาคต ทั้งที่เป็น…ภัยทางธรรมชาติ และภัยจากภาวะสงคราม กันเสียที
เริ่มเสียแต่วินาทีนี้เลย!!!.