คู่แรกของโลก “ไทย-สิงคโปร์” จับมือ Digital Payment โอนเงินระหว่างกันทันที
“แพทองธาร ชินวัตร ” แถลงร่วม “ลอเรนซ์ หว่อง” เตรียมฉลองความสัมพันธ์ ไทย-สิงคโปร์ ครบ60ปี พร้อมขยายความร่วมมือทุกด้าน เชื่อมโยง Digital Payment โอนเงินแบบทันที คู่แรกของโลก ดัน ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน
วันที่ 28 พ.ย.2567 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นสักขีพยานพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร และ นายลอเรนซ์ หว่อง ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับ และรู้สึกประทับใจที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นผู้นำคนแรกที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่ทั้งนี้ได้เคยพบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ สปป.ลาว เมื่อเดือนตุลาคม และเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ กรุงลิมา ประเทศเปรู
ขณะนี้ไทย-สิงคโปร์กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีหน้า โดยการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองได้ทบทวนความร่วมมือที่มีอยู่ และวางแผนสำหรับความร่วมมือในอนาคต โดยทั้งสองประเทศจะได้เห็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันมากขึ้นในปีหน้า โดยไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสิงคโปร์ที่ประเทศไทย
น.ส.นายกแพทองธาร กล่าวว่า ตั้งใจที่จะเดินทางไปเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อเรื่องต่างๆ ที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันนี้ โดยทั้งสองประเทศได้หารืออย่างชื่นมื่น ครอบคลุมในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ การค้าและการลงทุน รวมถึงความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว และความยั่งยืน
ทั้งนี้ประเทศไทยและสิงคโปร์หวังว่าจะได้เห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต และไทยพร้อมที่จะร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่สิงคโปร์ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวคุณภาพ (premium rice) และไข่ออร์แกนิกไปยังสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสีเขียว และ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
ในการแถลงข่าว ยังกล่าวถึง มิตรภาพที่แน่นแฟ้นของทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และไทยขอขอบคุณสิงคโปร์ที่มอบทุนการศึกษาให้กับข้าราชการไทย โดยผู้นำทั้งสองยังได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา เพื่อยกระดับและสร้างทักษะใหม่ (upskilling – reskilling) ให้แรงงานในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศต่างหวังที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนมาในประเทศเมียนมา พร้อมหวังว่าการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน (The extended informal consultation) ในกรุงเทพฯ จะเป็นโอกาสสำคัญเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับอาเซียนในเรื่องนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์กล่าวขอบคุณ สำหรับการตอบรับ และยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้นำคนแรกที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหลังนายกรัฐมนตรีแพทองธารเข้ารับตำแหน่ง โดยยินดีที่ไทยและสิงคโปร์ต่างเห็นพ้องขยายความร่วมมือในด้านใหม่ๆ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเร่งกระชับความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือในด้านพลังงาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประชาชน ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ จะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างข้าราชการของไทยและสิงคโปร์ และในปีหน้าที่ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายครบรอบ 60 ปี จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้นในหลากหลายมิติ และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ย้ำความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันไปสู่ในอีกระดับ
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่
1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับสูงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูง โดยเฉพาะในปี 2568 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรียินดีเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ในปี 2568 พร้อมส่งความปรารถนาดีถึงประธานาธิบดีสิงคโปร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ให้การต้อนรับในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พร้อมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือที่ได้หารือร่วมกันในวันนี้
2) ความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
- ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและสิงคโปร์มีความร่วมมือในการการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมร่วมทางทหารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์
- ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน ซึ่งสิงคโปร์มีการลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และภาคเอกชนสิงคโปร์เชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสีเขียว เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS)) ยานยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ตลอดจนความร่วมมือด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยและสิงคโปร์ฉบับใหม่ ซึ่งจะสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และด้านอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งไทยในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจากรอบความตกลงฯ ตั้งเป้าหมายให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ภายในปี 2568 ด้านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พร้อมให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ พร้อมกล่าวถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยง Digital Payment ระหว่าง PayNow ของสิงคโปร์ กับพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีคู่แรกของโลก (The world’s first real-time payment linkage) และพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น
- ด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องการมีความร่วมมือกับไทยมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยยินดีสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์ โดยเฉพาะการเพิ่มการส่งออกข้าวคุณภาพ (premium rice) และไข่ออร์แกนิกไปยังสิงคโปร์ พร้อมยืนยันว่า ไทยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ รวมถึงสินค้าของไทยมีการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี
- ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงด้านพลังงานและการซื้อขายพลังงานพหุภาคีในอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต้องการผลักดันการจัดทำความตกลงการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีข้ามพรมแดน (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project: LTMS:PIP) ซึ่งจะสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน