คุ้มครองสิทธิฯผนึก 4 พันธมิตร ร่วมแก้หนี้บุคลากรสาธารณสุข
กรมคุ้มครองสิทธิฯ จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ ลงนามความร่วมมือ ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อช่วงบ่าย วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนแผนความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการเงิน พร้อมมอบนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงนามร่วมกับ ผู้บริหารหน่วยงานภาคีทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นายทรงศิลป์ ภิรมย์กุล ผู้ตรวจราชการกรมบังคับคดี นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมี ดร.โฆสิต สุวินิจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท ผู้บริหารจาก 4 หน่วยงาน และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากร ตามนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ สอดรับกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข คือ หนี้ กยศ. โดยมีประมาณ 35,472 คน ซึ่งบางส่วนมีโอกาสถูกฟ้องร้องได้ จึงได้หารือกับ กยศ. เพื่อวางแนวทางให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มค้างชำระหนี้ 5,702 คน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2567 นี้ จะจัดมหกรรมความสุขทางการเงิน เน้นการแก้หนี้อย่างครอบคลุม ยั่งยืนและครบวงจร ให้กับชาวสาธารณสุขทุกคน จึงมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ปัญหาและเร่งรัดปิดหนี้ ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีการปรับลำดับการหักเงินใหม่ จากเดิมเป็นเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น มาเป็นหักจ่ายเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ สามารถผ่อนชำระได้ทั้งรายปี รายไตรมาสและรายเดือน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกล่าวแถลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครั้งนี้ว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล พร้อมเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการไกล่เกลี่ยระหว่างหน่วยงาน อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามขอบเขต หน้าที่ และอำนาจที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้ นอกจากนี้ จะร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพผู้ไกล่เกลี่ย การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ร่วมมือกันติดตามประเมินผลกระบวนการดำเนินงานเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และรายงานผลการดำเนินงานรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุนฯ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข โดยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สนับสนุนการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน
โดย กองทุนฯจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้โอกาสขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมเงินต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้นกองทุนฯจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% ซึ่งผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันทีหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
“ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนฯมากยิ่งขึ้น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว
ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงขอเชิญชวนลูกหนี้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ พร้อมรับโปรโมชั่นดีๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร. 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง.