กรมศุลฯเอาอยู่! ‘เข้มนำเข้า’ ชายแดนเมียนมา – ชี้! ผลงานครึ่งแรกปีงบ’67 จับหนักเฉียด 650 ล.

กรมศุลกากรไม่หวั่นผลกระทบปัญหาชายแดนด่านแม่สอด หลังสงครามในประเทศเพื่อนบ้านขยายผลรุนแรง มั่นใจร่วมหน่วยงานความมั่นคง สกัดลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายได้ ชี้! หลังคุมเข้ม – ปมลอบขนน้ำมันเถื่อนคลายตัว เช่นเดียวกับปัญหานำเข้าหมูเถื่อน ส่วนผลงานครึ่งแรกปีงบประมาณ 2567 สามารถตรวจยึดสินค้าเถื่อน มูลค่ากว่า 644.76 ล้านบาท ย้ำ! สกัดหนักสำหรับนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เหตุนายกฯห่วงมาก

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 เมษายน 2567 ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร กรุงเทพฯ, นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร พร้อมด้วยผู้บริหารฯ ร่วมแถลงผลงานตรวจยึดสินค้าเถื่อนในรอบครึ่งปีงบประมาณ 2567

อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสิ่งที่ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ บุหรี่กัญชา สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง นั้น กรมศุลกากรได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินงานตามด่านศุลกากรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลด้านการข่าวและลงพื้นที่ปราบปรามผู้กระทำผิดในการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร 

โดยตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรตรวจยึดสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,307 คดี มูลค่า 644,762,297 บาท มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ยาเสพติด อาทิ เฮโรอีน โคคาอีน  ECSTASY ตรวจยึดได้ 79 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 34 ราย จำนวน 321,511 เม็ด 219.23 กิโลกรัม มูลค่า 438,953,454 บาท ซึ่งประเภทยาเสพติดที่สามารถตรวจยึดได้มากที่สุด คือ เฮโรอีน จำนวน 28 คดี รองลงมาคือ โคเคอีน จำนวน 17 คดี

2. กัญชา (นอกเหนือจากช่อดอกและสารสกัดชนิดต่าง ๆ จากกัญชาที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติด) ตรวจยึดได้ 275 คดี ปริมาณ 4,831 กิโลกรัม มูลค่า 6,736,638 บาท

3. บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า /บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า ตรวจยึดได้ 169 คดี  จำนวน 262,693 ชิ้น มูลค่า 33,224,177 บาท

4. บุหรี่ซิกาแรต  ตรวจยึดได้ 1,004 คดี  จำนวน 14,337,351 มวน  มูลค่า 84,740,763 บาท

5. สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) ตรวจยึดได้ 18 คดี จำนวน  210,936 ชิ้น มูลค่า 52,310,000 บาท

6. สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตรวจยึดได้ 306 คดี จำนวน 124,635 ชิ้น มูลค่า 11,986,665 บาท

7. สินค้าเกษตร อาทิ กระเทียม ส้ม หอมแดง มะพร้าวและมะพร้าวฝอย ตรวจยึดได้ 302 คดีปริมาณ 409,397 กิโลกรัม มูลค่า 13,868,245 บาท

8. น้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจยึดได้ 154 คดี ปริมาณ 110,643 ลิตร มูลค่า 2,942,355 บาท

อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำว่า กรมฯได้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการให้มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ฯนั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.คลัง ที่กำกับดูแลกรมศุลกากร กำชับอย่างมากให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะห่วงอนาคตของชาติจะเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการคุมเข้มยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีไม่ถูกเอาเปรียบจากสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ และสร้างความเป็นธรรมได้อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึง สถานการณ์ล่าสุดของปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย อธิบดีกรมศุลกากร ตอบว่า ภาพใหญ่อยู่ในชั้นการตรวจสอบของดีเอสไอ แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของสินค้าเกษตรนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมฯดำเนินการอย่างเข้มงวด เหมือนเช่นการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว

สำหรับ ปัญหาสงครามภายในประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก นั้น นายพันธ์ทอง ในฐานะ “โฆษกกรมศุลกากร” แสดงความมั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกรมฯ โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายและยาเสพติด เนื่องจากกรมฯได้ประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อดูแลสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดอยู่แล้ว เช่นกัน ปัญหาการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนทั้งการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และส่งออกน้ำมัน โดยการแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) นั้น กรมฯได้ประสานกับหน่วยงานทั้งในกระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร) และหน่วยงานที่ดูแลภารกิจตามแนวพรมแดน เชื่อว่า ปัญหาน้ำมันเถื่อนมีน้อยถึงน้อยมาก จะมีบ้างก็บริเวณกลางทะเลในเขตภาคใต้ ที่พบว่ามีเรือประมงของชาวบ้านไปซื้อและนำเข้ามาเพื่อใช้กันเองภายในครัวเรือน ซึ่งยังไม่ถึงจุดที่สร้างปัญหาแต่อย่างใด

“ส่วนเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมากนั้น กรมศุลกากรพร้อมจะผ่อนปรนการตรวจเข้มในการนำสินค้าติดตัวเข้ามาในประเทศ สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยหากเป็นสินค้าติดตัวที่ผ่านการใช้งานจริง ซึ่งต้องไม่ใช่สินค้าที่ยังมีป้ายและพลาสติกห่อหุ้ม ก็พร้อมจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ

อนึ่ง สินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ กรมศุลกากรเตรียมจะทุบทำลายทิ้งในโอกาสต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password