“ชาญชัย” ชี้ “พิธา” มีโอกาสรอด 50-50 ปมถือหุ้น ITV ขึ้นอยู่กับ ศาลฯ จะพิจารณา

“ชาญชัย” เผย กรณี หุ้น AIS กับ ITV มีลักษณะต่างกัน แม้จะเป็นหุ้นสื่อ ขึ้นอยู่กับ ศาลรธน.จะใช้หลักการใดพิจารณา ระหว่าง “รัฐศาสตร์” กับ “นิติศาสตร์” ชี้ โอกาสรอดมี 50-50

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ ครอบครองหุ้น AIS แต่สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำตัดสินเมื่อ 2 พ.ค. 2566 ให้ลงเลือกตั้งได้ เพราะศาลฎีกาเห็นว่า ครอบครองเพียง 200 หุ้นเป็นสัดส่วนที่น้อย ไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับนายชาญชัยได้

ทั้งนี้ นายชาญชัย ยังได้กล่าวเปรียบเทียบกรณีของตนเองกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า สำหรับกรณีของนายพิธา ถือหุ้นสื่อมวลชน คือสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นถือโดยตรงไม่ใช่ถือโดยอ้อม แต่ของตนถือโดยอ้อม โดยกรณีของไอทีวีก็พบว่ายังทำกิจการอยู่ ยังจดทะเบียนอยู่ ยังไม่ได้บอกเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้า และปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเรื่องใบอนุญาตและผลประโยชน์ต่างๆ ร่วมกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางกฎหมาย กรณีของพิธา ความเป็นผู้ถือหุ้นมันชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะถือในนามมรดกหรือถือในนามตัวเอง แต่ถือว่าถือหุ้นแล้ว ซึ่งเขาถือ 42,000 หุ้น แต่ของตน 200 หุ้น และไม่ได้ถือโดยตรง ตรงนี้คือความเหมือนแต่แตกต่างระหว่างคดีของตนกับคำร้องของนายพิธา ที่หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินไปทางไหน

นายชาญชัยกล่าวต่อว่าสำหรับกรณีของนายพิธายังมองว่า 50-50 คือหาก กกต.ส่งคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถวินิจฉัยได้แบบเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือจะวินิจฉัยให้ออกมาแบบเดียวกับของตนเองก็ได้ อยู่ที่ว่าจะใช้หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาตามหลักนิติศาสตร์คือพิจารณาว่าพฤติกรรม และเหตุที่เกิดมันขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเจตนา เพราะเรื่องเจตนา คดีของตนเองศาลฎีกามองว่าถือหุ้นเอไอเอสมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ถ้าไปในทางเดียวกันต้องดูนัยยะว่าที่ถือหุ้นแล้วสามารถไปสั่งการหรือไปขอให้ช่วยได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกามองว่าถือหุ้นเอไอเอสอยู่นัยยะไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้

“ก็ไปได้ทั้งสองทางยัง 50-50 อยู่ แต่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินไว้แล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะไปเปลี่ยนมันก็จะกลายเป็นปัญหา ส่วนกรณีว่าปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้แพร่ภาพหรือทำอะไรแล้ว ตรงนี้ไม่เกี่ยว เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าแม้จะหยุดไม่ได้ทำแล้ว แต่ไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ ยังถือว่าทำได้อยู่ เพราะหากไม่ได้ยกเลิก จะทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้ การไม่ได้แพร่ภาพแล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่คุณไม่ทำเอง แล้วทางไอทีวี ก็มีการไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองว่าตอนที่เข้ามาเซ็นสัญญา ไปประมูลมาต้องเสียค่าสัมปทานแพงกว่าช่องอื่น แล้วต่อมาทำไป ก็จะขอให้รัฐลดค่าสัมปทานลง แล้วต่อมาก็เบี้ยวไม่จ่ายเงิน ก็เลยกลายเป็นปัญหาถึงตอนนี้ ซึ่งลักษณะแบบนี้อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี”

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า หากไปจดทะเบียนแล้วไม่เคยทำเลย ไม่เคยมีรายได้ ถึงต่อให้เป็นเจ้าของด้วย แต่ไม่เคยทำกิจการสื่อ ถ้ากรณีแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องหมดเลย เคยมีเคสแบบนี้ ที่ส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลก็ได้ยกคำร้องไปรวม 29 ราย เพราะหลักเกณฑ์ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคือ คุณเป็นเจ้าของ หรือ มีหุ้นหรือไม่ และจดทะเบียนแล้ว ทำกิจการหรือไม่ ทำแล้วมีรายได้หรือไม่ ที่ผ่านมา ศาลจึงมักนำหลักฐาน เช่น บอจ. 5 เพื่อดูว่า มีรายได้ปรากฏในงบดุลบริษัทที่ถือหุ้นสื่อดังกล่าว หรือไม่ โดยหากไม่มีรายได้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าไม่เคยทำเลย ที่ผ่านมาศาลก็จะยกคำร้องหากเป็นแบบนี้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น พบว่ามันยังมี บอจ.5 ก็ต้องดูว่าไอทีวีมีรายได้จากอะไร ถ้าพบว่ามีรายได้จากดอกเบี้ย เพราะบริษัทยังไม่เลิกทำ แบบนี้คดีของพิธา ก็ยัง 50-50

“คดีของพิธาจุดสำคัญคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมองในเชิงหลักรัฐศาสตร์ นัยยะในการถือหุ้น ไม่มีผลในการที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) คือ ถือหุ้นน้อยเทียบกับจำนวนทั้งหมด ถ้ามองแบบนี้ศาลก็อาจยกคำร้องได้ แต่หากศาลตีความว่ายังถือครองหุ้นไว้อยู่ แล้วก็เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ที่เป็นเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น คือจะมีหุ้นสื่อ ไม่ว่าจะกี่หุ้น หนึ่งหุ้น สองหุ้น สามหุ้น ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือพบว่ายังถือหุ้นอยู่ แล้วยังไม่ได้จดทะเบียนเลิก ให้ถือว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ” นายชาญชัย กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password