กยศ.ชี้! 2 ใน 3 กลุ่มผิดนัดชำระฯ จงใจเบี้ยวหนี้ เตรียมเปิด สนง. ‘เก็บตก’ ไกล่เกลี้ยหนี้ 1.4 แสนราย

กยศ. พร้อมเข้าชี้แจงวุฒิสภาถึงหลักการและเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ. กยศ.ฉบับใหม่ ระบุ! การยึดเหตุผลทางการเมืองอาจกระทบต่อผู้กู้ยืมรายใหม่และวินัยการเงินการคลังของชาติ ชี้! 2 ใน 3 กลุ่มผิดนัดชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จากก้อนเต็ม 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่จงใจเบี้ยวหนี้ เผย! ยอดที่เหลือให้เร่งไกล่เกลี่ยหนี้มีถึง 1.4 แสนราย เตรียมเปิด สนง.กยศ. รับไกล่เกลี่ยหนี้ เริ่มต้น ต.ค.นี้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีที่ ร่าง พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับที่…. ที่ สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบในวาระ 3 และขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทาง กยศ. ก็มีแผนเตรียมการรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กยศ.จำเป็นจะต้องเข้าไปชี้แจงเพื่อให้รายละเอียดถึงหลักการและเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้กู้ ซึ่งก็คือนักเรียน นิสิตและนักศึกษาเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 สภาเห็นชอบที่จะยืนยันให้การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเป็นไปแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกรายนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กยศ.อย่างแน่นอน ทั้งในส่วนของวงเงินที่จะใช้ในการบริหารกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบัน กยศ.มีวงเงินปล่อยกู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่ละปีประมาณ 40,000 ล้านบาท ขณะที่ได้รับคืนเงินจากลูกหนี้ ทั้งในส่วนที่ลูกหนี้ชำระตรงกับ กยศ. หรือผ่านการหักบัญชีธนาคารรวมกันปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรับคืนเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ กยศ.ก็จะนำไปปล่อยกู้ให้กับรายใหม่ หาก กยศ.ไม่มีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยหรือค่าปรับเลย ย่อมต้องกระทบต่อรายได้และการดำเนินงานในอนาคต เนื่องจาก กยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียน ที่ไม่ได้รับการจัดสรรจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้กู้รายใหม่ ทั้งในแง่ของจำนวนคนที่จะได้รับเงินกู้และวงเงินกู้ที่แต่ละคนจะได้รับ

“นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน กยศ.และตัวนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไปแล้ว หลายฝ่ายยังมองว่าเป็นการทำลายหลักการที่ดีของระบบการเงิน โดยเฉพาะผลกระทบต่อวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศ” นายณรงค์ชัย กล่าว
จากข้อมูลสถิติพบว่า มีลูกหนี้ กยศ.ที่มีภาระต้องชำระหนี้รวมกันราว 3.5 ล้านคน และในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้มากถึง 2.5 ล้านคน ที่เหลืออีกเกือบ 1 ล้านคน เป็นผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ และยังมีผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพอีก 68,787 ราย โดยในกลุ่มของผู้ที่ผิดนัดชำระเงินกู้กับ กยศ.นั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มคนที่ยากจนจริงๆ เช่น เมื่อเรียนจบออกมาแล้วประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็อาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และเป็นกลุ่มที่ กยศ. ยอมรับให้มีการชำระคืนในวงเงินที่ต่ำที่สุด อย่างน้อยเดือนละ 100 บาท ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่มที่เหลือ
2.กลุ่มคนที่ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งมีมากที่สุด! คนกลุ่มนี้ มักใช้จ่ายเงินผิดประเภทและค่อนข้างจะฟุ้งเฟ้อ
และ 3.กลุ่มคนที่ไม่จิตสำนึก จากข้อมูลพบว่าเป็นกลุ่มคนที่อาชีพ มีรายได้ บางคนมีเงินฝากอยู่ในธนาคารเป็นจำนวนมาก แต่ไม่จิตสำนึก ที่จะชำระคืนหนี้กับ กยศ. ซึ่งคนใน 2 กลุ่มหลัง จำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการชำระหนี้กลับคืนมาบ้าง

“ช่วงที่ผ่านมา กยศ. เราเดินสายไปร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ทั่วประเทศ จากลูกหนี้ที่มีปัญหาประมาณ 180,000 ราย ซึ่งเราสามารถดึงมาไกล่เกลี่ย โดยไม่ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 40,000 ราย ที่เหลืออีก 140,000 ราย เราจะเปิดให้เดินเข้ามาไกล่เกลี่ยได้ที่สำนักงานของ กยศ. ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป” ผจก. กยศ. ระบุ
อนึ่ง ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 พบว่า กยศ.ได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท โดยมีผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท และสำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท.