สสส.นำพันธมิตรถกแก้ปมลึก ‘เหล้า-บุหรี่’ บุกกินรวบเมืองสองแคว ชี้! รอบมหา’ลัย มีร้านเหล้ามากสุดในไทย

“สสส.- มสส.” จับมือสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก เปิดเวทีถกปัญหาเหล้า-บุหรี่เมืองสองแควแก้อย่างไรให้ตรงจุด พบดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าค่าเฉลี่ย แถมมีร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยสูงสุดของประเทศ ด้านรักษาราชการแทนผู้ว่าฯ ชี้! ปี 2568 มุ่งเป้าป้องกัน “นักสูบ-นักดื่มหน้าใหม่” เพิ่มทักษะชีวิต ส่วนสื่อมวลชนแฉ! มีนายตำรวจใหญ่เกี่ยวข้องขบวนการขายบุหรี่ฟ้าให้นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งเมืองสองแคว

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน  2567 ที่ห้องอุทัยธานี โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก,  มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ปัญหาเหล้า-บุหรี่เมืองสองแคว…แก้อย่างไรให้ตรงจุด” โดยมี นายทรงพล  วิชัยขัทคะ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมมีสื่อมวลชน ทุกแขนง ในจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมประชุม         

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมฯ ว่า สสส.มีบทบาทในการสานและเสริมพลังบุคคล ชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดี  ให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่และแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ปัจจุบันพบว่า มีเด็กผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 15 มากกว่าหลายประเทศในเอเชีย และล่าสุดบุหรี่ไฟฟ้าได้แพร่กระจายไปสู่เด็กชั้นประถมแล้ว

เช่นเดียวกับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบหลายด้าน เนื่องจากการดื่มแล้วขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2565 ถึง 2,390 คน คิดเป็นร้อยละ 14.1 ของการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน 16,957 คน  ดังนั้น สสส.จึงทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชน ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และรู้เท่าทันให้กับประชาชน การผลักดันมาตรการ นโยบายและกฎหมายเพื่อป้องกันแก้ไขลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามของธุรกิจบุหรี่ที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย การรุกของธุรกิจแอลกอฮอล์แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 เพื่อปลดล็อกให้สามารถขายและดื่มได้อย่างเสรีมากขึ้น  

ด้าน นายทรงพล วิชัยขัทคะ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเปิดการประชุมฯในครั้งนี้ว่า ขอชื่นชมว่าหัวข้อการจัดประชุมดีมากว่าปัญหาเหล้าบุหรี่จะแก้อย่างไรให้ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็พยายามร่วมกันแก้ปัญหาแต่อยู่ที่ว่าตรงจุดหรือไม่? ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหสำคัญที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่เวลาลงมือปฏิบัติจะต้องทำอย่างมีจุดเน้น เช่น ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปเลยว่าในปี 2568 เราจะมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ แล้วกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำอะไร? ครูต้องทำอะไร? กำกัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ตำรวจจะต้องทำอะไรบ้าง? เพื่อให้เห็นผล แล้วปี 2559 ก็กำหนดกลุ่มเป้าหมายใหม่ว่าจะมุ่งไปสู่กลุ่มไหน? ตนเองลงพื้นที่ชุมชนยังพบว่าร้านค้าในชุมชนยังคงขายบุหรี่ขายเหล้าอยู่ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านศีล 5 เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องอิทธิพลของโทรศัพท์มือถือ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือมือโยนภาระให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในขณะที่พิษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์แฝงตัวซึมลึกผ่านมือถือ ดังนั้นควรให้ความรู้และเพิ่มทักษาะในชีวิตเพื่อปฏิเสธสิ่งเหล่านี้กับเด็กด้วย

ส่วน ดร.ไพรัตน์ อ้นอินทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 กล่าวว่า สถานการณ์ในจังหวัดพิษณุโลก ปี 2564 พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการดื่มสุรา ร้อยละ 30.70 อยู่ในอันดับที่ 29 ของประเทศ เป็นกลุ่มนักดื่มประจำ ร้อยละ 52.90 เป็นนักดื่มหนักร้อยละ 40.60 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 43.30  สำหรับกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มสุราร้อยละ 13.60 อยู่อันดับที่ 16 ของประเทศ  ซึ่งถือว่ายังมีอัตราที่สูงกว่าระดับประเทศ

ส่วนสภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า มีร้านจำหน่ายสุรารอบมหาวิทยาลัยมากที่สุดในประเทศ มีสถานบันเทิงจำนวนมากในเขตเมือง ทำให้กลุ่มนักศึกษาเข้าถึงได้ง่าย แต่จุดแข็งของ จ.พิษณุโลกคือความร่วมมือของภาครัฐและประชาคมเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ทั้งการเฝ้าระวังสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การปรับแนวทางการทำงานมองว่า ผู้ประกอบการคือมิตร โดยให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องปกป้องการถูกจับปรับ  มีเครือข่ายครูร่วมมือกับภาครัฐ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ขับเคลื่อนสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่ นางสาวภัทรินทร์ ศิริทรากุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรไทย พ.ศ. 2564 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก อัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 17.0 สูงเป็นอันดับที่ 3 ของเขตสุขภาพที่ 2  กลยุทธ์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนทำให้การบริโภคยาสูบในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 19 ปี ลดลงเพียงเล็กน้อย ยกเว้นจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัยที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้ภาพรวมการสูบบุหรี่ลดลง แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของเยาวชนในสถานศึกษา (GYTS) ปี 2565  ในกลุ่มเด็กนักเรียน อายุ 13-15 ปี พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่า ในระยะเวลา 7 ปี จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ช่องทางในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 75.7 ซื้อผ่านออนไลน์ ดังนั้น ทุกหน่วยงานควรผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ให้เกิดผลเชิงประจักษ์

ทางด้าน พ.ต.อ.ธัชพงศ์ วงศ์พัฒนานิวาศ ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้นโยบายตำรวจทั่วประเทศแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า 4 เรื่อง คือ 1.ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าเน้นกวดขันจับกุมร้านจำหน่ายรอบสถานศึกษา 2.ทุกหน่วยต้องมีผลการจับกุมที่เป็นรูปธรรม 3.ตัดวงจรรายใหญ่ จับกุมการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ที่เป็นเครือข่ายระดับประเทศเพื่อตัดวงจรการกระจายสินค้า และ 4.การประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์เข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชนและสถานศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

ส่วนผลการจับกุมผู้จำหน่วยและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ สภ.เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงปัจจุบันจับกุมได้ 44 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้สูบ 42 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย 2 ราย เช่นวันที่ 30 พ.ค.2567 จับได้ 179 ชิ้น วันที่ 14 มิถุนายน 2567 จับกุมจากการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ เป็นหัวpod บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 516 ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 264  ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบเปลี่ยนหัวและหยดสูบ 22 ชิ้น น้ำยาชนิดเติมบุหรี่ไฟฟ้า 26 ขวด

นายประดับ สุริยะ กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์มีการบูรณาการการทำงานทั้ง 2 ประเด็นเน้นการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ สร้างชุมชนให้ปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับ นายมังกร จีนด้วง นายกสมาคมสื่อสารมวลชน ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมผ่าน ผู้กำกับการ สภ.เมืองพิษณุโลก ว่า มีข่าวซุบซิบกันว่ามี นายตำรวจคนหนึ่งเข้าไปมีส่วนกับขบวนการขายบุหรี่ออนไลน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังของพิษณุโลก ด้วยซึ่งผู้ กำกับ สภ.เมืองพิษณุโลก รับที่จะไปดูแลเรื่องนี้ ในขณะที่ สื่อมวลชนหลายสำนักเสนอ ว่า นอกจากการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนแล้วตำรวจและฝ่ายปกครองควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

นายศักดา แซ่เอียว ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนขับแคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.)  เห็นว่า มาตรการร้อยแปดประการที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันระดมสรรพกำลังกันมายาวนาน ซึ่งต้นตอมาจากผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์ สื่อจะมาช่วยกันชะลอภัยพิบัตินี้อย่างไร? โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชน ไม่ใช่ต้องวิ่งไล่ตามแก้ปัญหา เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้ตระหนักรู้ ถึงพิษภัยเหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือและสื่อสมัยใหม่เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่

ส่วน นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวปิดการประชุมและขอบคุณรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก วิทยากรและสื่อมวลชนที่ร่วมสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยกำหนดจุดเน้นชัดเจนในการปกป้องนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ทั้งการรู้เท่าทัน การสร้างภูมิคุ้มกันและการบังคับใช้กฎหมายและหวังว่าจะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password