วงถก ‘กัญชาการแพทย์’ ห่วงเด็กไทย ชี้! ‘ซื้อง่าย-ผสมยาเสพติดอื่น’ ชง ‘กม.เฉพาะ’ มุ่งแก้ปัญหาหลัก – สสส.หนุนชัด! ‘ใช้เพื่อการแพทย์’

“สสส.- มสส.” จับมือ “สื่อมวลชน – การ์ตูนนิสต์” ชวนถกประเด็น “กัญชาทางการแพทย์” ย้ำ! แม้มีจุดดีหลายข้อ แต่อดห่วงเด็กและเยาวชนไม่ได้! เหตุ “เข้าถึงได้ง่าย – นำผสมยาเสพติดชนิดอื่น” ก่อปัญหาจิตเวช เผย! ร่างพ.ร.บ.กัญชาฉบับประชาชนที่เสนอสภาฯ มุ่ง “ห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาด” พ่วงสร้างมาตรการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ด้าน “บอร์ด สสส.” ย้ำจุดยืน! หนุนใช้กัญชาทางการแพทย์ ทั้งศึกษาวิจัยทางคลินิกในการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ชัดเจน พร้อมรณรงค์สื่อสารให้ความรู้กับสังคม

วันนี้ (23 ก.ค.2568) ณ ห้องกรรณิการ์ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุม โฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ทิศทางแนวโน้มกัญชาเพื่อการแพทย์…ทำได้จริงหรือ?” โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี สื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมถึง นักเขียนการ์ตูน (การ์ตูนนิสต์) ชั้นนำของเมืองไทย เข้าร่วมการประชุมฯในครั้งนี้

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการ สสส. ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเด็นการใช้ประโยชน์และอันตรายจากการใช้กัญชายังเป็นที่ถกเถียงของคนทั่วโลก แม้หลายประเทศ เช่นอุรุกวัย แคนาดา เม็กซิโก มอลตา ลักเซมเบิร์ก แอฟริกาใต้ เยอรมนี จะอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ ส่วนการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น ดูเหมือนว่าสังคมส่วนใหญ่จะไม่ต่อต้าน
ด้านบทบาท สสส.กับการขับเคลื่อนประเด็นกัญชาและสิ่งเสพติดนั้น สสส.มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการและการนำไปผสมในผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการควบคุมที่ชัดเจน จึงสนับสนุนให้ภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรมใน 2 แนวทาง คือ 1.การสนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัยสร้างองค์ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ รวมถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม และ 2.การสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้กับเด็ก เยาวชนและสังคมให้รับทราบถึงอันตรายของการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้กัญชาไปผสมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารให้รับรู้ถึงอันตรายจากได้รับกัญชามือสองเช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง

ด้าน นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด หนึ่งในองค์กรที่ร่วมเสนอ ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดและสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด และการที่ รัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ.2564 โดยการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นการเปิดเสรีทางกัญชาอย่างไม่มีข้อจำกัด ประชาชนคนไทยจึงอยู่กับสถานการณ์เสรีกัญชามากกว่า 3 ปี
โดยมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบจากกัญชา ซึ่งเป็นโจทย์ทางสังคมที่ถกเถียงกันตั้งแต่ฝ่ายการเมือง จนถึงครอบครัวและชุมชน ปัญหาคือเด็กเยาวชนหาซื้อได้ง่ายใช้กัญชาผสมกับสารเสพติดประเภทอื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสพติดและบางคนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช การใช้กัญชาเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องการใช้กลายเป็นค่านิยมทางสังคม ถึงเวลาแล้วที่ควรต้องมีกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด

“หากมองในมุมบวกประโยชน์ที่เกิดจากการใช้กัญชาในทางสร้างสรรค์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มาจากฐานงานวิจัยเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และสามารถบรรเทาอาการและรักษาโรคได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังข้อมูลจาก กรมการแพทย์ ได้ให้กับสังคม เช่น กรณีการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง การใช้กัญชาทางการแพทย์ในกลุ่มแคนนาบิไดออล (Cannabidiol) เป็นยาเสริมการรักษาโรคพาร์กินสัน จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย หรือกรณีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรงก็ตาม หรืออาจกล่าวได้ว่าการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทุกภาคส่วนในสังคมนั้นเห็นด้วย เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและใช้เป็นทางเลือกในการรักษา” นายวัชรพงศ์ กล่าว

ด้าน นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ทนายความ และผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย). กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2568 มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2568 เพื่อกำกับการขายในประเทศให้เข้มงวดมากขึ้น และเน้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เท่านั้น โดยเพิ่มเงื่อนไขที่ผู้ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2552 ต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น สังคมไทยจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ การมีพระราชบัญญัติควบคุมกัญชาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 17,343 คน ได้ร่วมกันเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเนื้อหาเน้นการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่ส่งเสริมการขายหรือใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ โดยมี คณะกรรมการกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน มีการออกใบอนุญาตกัญชาแยกออกจากกัญชง มีการป้องกันและควบคุมการใช้กัญชาไม่เหมาะสม ควบคุมการโฆษณาการสื่อสารการตลาดกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพ สถานพยาบาลปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยปลูกกัญชาได้ถ้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งการคุ้มครองเด็กเยาวชน

ส่วนตัวเชื่อว่า หากดำเนินการตามนี้ จะทำให้คนไทยอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ตนไม่เชื่อว่า พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติด เพราะหากมีการเจรจากันได้ปัญหากัญชาก็จะถูกมองข้าม ดังนั้นเราควรจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดการควบคุมอย่างจริงจัง
โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ( https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=474 ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2568 นี้

ด้าน สื่อมวลชนและการ์ตูนนิสต์ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ ได้นำเสนอความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ จะต้องให้ความรู้กับสังคมว่าการปลูกกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์ต้องเป็นการปลูกในโรงเรือนที่เป็นระบบปิด มีการควบคุมแสงแดดและอุณหภูมิ ซึ่งต้องลงทุนสูง ไม่ใช่การปลูกในพื้นที่ระบบเปิดทั่วไปอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากนี้จะต้องมีการวิจัยทางคลินิก ในกลุ่มโรคที่มีหลักฐานหนักแน่นว่าสามารถใช้กัญชารักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ควรมีการจำกัดใบอนุญาตและกำหนด Zoning ให้เป็นพื้นที่ควบคุม รวมทั้งการมีมาตรการห้ามนำกัญชาไปผสมในสูตรอาหารต่าง ๆ และควรหาวิธีการในการสื่อสารกับเยาวชน กลุ่มเปราะบางให้รู้เท่าทันถึงอันตรายของกัญชา
สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวขอบคุณวิทยากร และสื่อมวลชนรวมทั้งให้ความเห็นว่า กัญชานั้นเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย มิติทางการแพทย์ หรือสุขภาพถือเป็นความหวังของผู้ป่วย มิติทางเศรษฐกิจอาจมีส่วนสร้างรายได้ แต่มิติทางสังคมอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ดังนั้นสมดุลในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ โดยคำนึงผลกระทบทางบวกและทางลบให้ดี.

You may also like
