‘IFC – ธนาคารไทยเครดิต’ ร่วมหนุนธุรกิจที่สตรีเป็นเจ้าของในไทย
บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และ ธนาคารไทยเครดิต ร่วมมือกันเพื่อ สนับสนุนกิจการขนาดย่อมซึ่งมีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของในประเทศไทย เพิ่มการเข้าถึงการเงิน หวังช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น พร้อมจัดให้มีการลงทุนในตราสารทุนสูงถึง 23.8 ล้านดอลล่าร์ (844 ล้านบาท) ในฐานะผู้ลงทุนหลักในการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ. ธนาคารไทยเครดิต
การลงทุนในตราสารครั้งแรกของ IFC ใน ธนาคารของประเทศไทยจะช่วยให้ TCB ซึ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนบริการทางการเงินให้แก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน นอกจากนี้ยังช่วยให้ธนาคารสามารถที่จะขยายพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มวิสาหกิจ MSME และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มวิสาหกิจ MSME ที่มีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำ (WMSME)
กลุ่มวิสาหกิจ MSME คิดเป็นร้อยละ 99.6 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 86 ของการจ้างงานทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 กลุ่มวิสาหกิจ MSME ต้องเผชิญกับช่องว่างทางการเงินประมาณ 41 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจ WMSME แล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องท้าทายที่ยิ่งกว่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาภายหลังการแพร่ระบาดของโรคระบาด ที่มีช่องว่างทางการเงินประมาณ 25,000 ล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของช่องว่างทางการเงินของ MSME ทั้งหมดในประเทศไทย
“เมื่อพิจารณาจากสภาวะตลาดที่ซบเซา เรายินดีอย่างยิ่งกับเงินทุนของ IFC และคาดหวังว่าเงินทุนดังกล่าวจะช่วยดึงดูดพันธมิตรรายอื่น ๆ ได้ ทำให้เราสามารถเสนอแหล่งเงินทุนซึ่งจับต้องได้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ MSME โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวิสาหกิจ WMSME ซึ่งพวกเขาเคยถูกมองข้ามไปในอดีต โดย IFC ถือเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดของ TCB ในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ส่งผลให้ TCB แตกต่างจากผู้เข้าร่วมในตลาดรายอื่น ๆ” นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการของ TCB กล่าว
นอกจากนี้ โครงการนี้จะช่วยให้ TCB นำเสนอบริการที่ไม่ใช่ทางการเงิน (เช่น การฝึกอบรมด้านการเงินหรือการสร้างเครือข่าย) ซึ่งได้ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจ WMSME
“การจัดหาเงินทุนโดยเฉพาะให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ MSME รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจ WMSME มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึงและมีความยั่งยืน ดังนั้น การมีส่วนร่วมของ IFC ในฐานะนักลงทุนหลักในการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และในขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถให้แก่สุภาพสตรี ส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มวิสาหกิจ SME และกระตุ้นการสร้างงาน ด้วยการสนับสนุนกลุ่มที่ไม่ได้รับโอกาส โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามในฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของประเทศและเพิ่มความสามารถในการกลับสู่สภาพปกติได้” Jane Yuan Xu ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ของ IFC ระบุ
อนึ่ง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา IFC ได้อยู่ในระดับแนวหน้าในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทยมากขึ้น โดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรหลักในภาคการเงิน โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 IFC ได้ลงทุนเงินจำนวน 105 ล้านดอลล่าร์ใน TCB เพื่อสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ MSME ในประเทศไทย โดยมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของเงินทุนได้รับการจัดสรรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ WMSME.