“ครม.” เทกระจาด อนุมัติ รวดเดียว1.73 แสนล้านบาท ทิ้งทวนก่อนยุบสภาฯ
ครม.ประชุมมาราธอน 7 ชั่วโมง เทฯงบ-เว้นภาษี ทิ้งทวนนัดสุดท้าย 8 เรื่องสำคัญ กว่า 1.7 แสนล้านบาท ขึ้นเงินเดือน กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน /ลดดีเซลต่อสองเดือน ผ่านสัญญาคลื่นความถี่ 700 ให้บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติดำเนินงาน พร้อมไฟเขียวประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.วานนี้ (14 มี.ค.) เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาฯทำให้มีวาระเข้าสู่การพิจารณา และพิจารณาจรเป็นจำนวนมากรวมมากกว่า 100 วาระ และใช้เวลาในการประชุมประมาณ 7 ชั่วโมง และมีการอนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ การลดภาษี การชดเชยงบประมาณให้กับสถาบันการเงิน รวมวงเงินกว่า 173,850.91 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ครม.เห็นชอบ ให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) มีกรอบวงเงินตามโครงการทั้งสิ้น 61,628 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 14 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ภายในปี 66 เป็นต้นไป
โดยโครงการนี้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ได้จากการประมูลมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยี 4G/5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด รองรับผู้ใช้บริการรายเดิมบนคลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่สิทธิการใช้คลื่นของ บจม.โทรคมนาคมกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 ส.ค. 68 รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ๆ ตามแผนการตลาด และเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต
โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งส่วนของลูกค้ารายย่อย 3.6 ล้านราย เช่นลูกค้าเดิมที่ใช้บริการอยู่ 2 ล้านรายและกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้า 2-4 แสนซิมต่อปี กลุ่มลูกค้า IoT Connectivity และ New devices ลูกค้าองค์กรภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน จำนวน 9 แสนเลขหมาย
สำหรับกรอบวงเงินดำเนินการ 61,628 ล้านบาท นั้น แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน 30,602 ล้านบาท เช่น ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 20,584 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร 9,300 ล้าบาท และอุปกรณ์โครงข่าย 718 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ยในการดำเนินงาน 31,026 ล้านบาท เช่น ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร 1,615 ล้านบาท และ ค่าดำเนินการอื่นๆ 175 ล้านบาท
2.อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชนระหว่างจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและนันทนาการของภาครัฐทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา
โดยโครงการฯ มีมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 3,726.81 ล้านบาท ส่วนนี้จะใช้จ่ายจากงบประมาณรัฐบาล และค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 20,333.23 ล้านบาท กทพ. จะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรในกรอบวงเงิน 5,960 ล้านบาท
โดยโครงการฯ จะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร(ไป-กลับ) ระยะทาง 16.21 กม. มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
3.อนุมัติเพิ่มเงินค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รวมทั้ง ผู้บริหารและสมาชิก อบต. รวมกว่า 18,570.34 ล้านบาท โดยครม. เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ
รวมทั้งเพิ่มเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล
ส่วนแรก ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตาแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รายละเอียด ดังนี้
การปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน สรุปได้ คือ กำนัน อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน) ผู้ใหญ่บ้าน อัตรากำลังคน 67,673 อัตราเงินตอบแทน 10,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน) แพทย์ประจำตำบล อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
สารวัตรกำนัน อัตรากำลังคน 14,072 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง อัตรากำลังคน 149,418 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ อัตรากำลังคน 46,181 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
และปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบขั้นวิ่ง เดิมจากขั้นละ 200 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาทต่อปี และในกรณีที่ได้ 2 ขั้น จะปรับจาก 400 บาทต่อปี เป็น 600 บาทต่อปี ดังนี้ กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน รวมงบประมาณ จากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน จำนวน 4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 4,795.65 ล้านบาทต่อปี
ครม. เห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฃ
โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ รายได้ของ อบต. ซึ่งปัจจุบันมี 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้
1)รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน รอง นายก อบต. รวม15,480 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน
2)รายได้เกิน 10 – 25 ล้านบาท (3,562 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน
3)รายได้เกิน 25 – 50 ล้านบาท (525 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน
4)รายได้เกิน 50 – 100 ล้านบาท (166 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน 5.รายได้เกิน 100 – 300 ล้านบาท ( 30 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 24,720 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน
6)รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน
ทั้งนี้ เงินค่าตอบแทนที่ปรับเพิ่มในครั้งนี้ มีอัตราเดียวกับบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนของเทศบาล ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนจะใช้งบประมาณจากรายได้ของอบต. จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็น 44.66%
4.ครม.เห็นชอบ โครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 65/66 และมาตรการคู่ขนานสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสินเชื่อ วงเงินรวม 1,716.10 ล้านบาทแบ่งเป็นประกันรายได้ 716.10 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/2566 วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โดยประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้น ร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 – 31 พฤษภาคม 2566 ส่วนระยะเวลาโครงการ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2567 และมีระยะเวลาการจ่ายเงิน รวม 12 งวด ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2565 – 31 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มีนาคม 2566 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูง 11 – 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาประกัน 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย 5 งวด ตามช่วงเวลาดังกล่าว
โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/2566 วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือร้อยละ 3 ต่อปี รัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ มีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 12 เดือน ส่วนระยะเวลาของโครงการ เริ่มตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ – 30 มิถุนายน 2567 ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ – 31 พฤษภาคม 2566
5.ครม.เห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐจะชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ภายในวงเงิน 600 ล้านบาท โดยในปีแรกให้ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้กับสถาบันการเงิน ภายในวงเงิน 200 ล้านบาทและงบบริหารโครงการ ภายในวงเงิน 150 ล้านบาท และให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงินในปีที่ 2-4 ภายในวงเงิน 400 ล้านบาท โดยกลุ้มเป้าหมายคือ กองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 79,610 กองทุน
6.ครม.อนุมัติแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ.2566-70 ฉบับทบทวน ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อมูลสำคัญด้านต่างๆ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ กำหนดประเด็นการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับศักยภาพ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้ และให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป
พร้อมกับอนุมัติแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,747 โครงการ วงเงินรวม 41,903.46 ล้านบาท โดยเมื่อจำแนกตามประเภทโครงการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ร้อยละ 57) รองลงมาเป็นโรงการด้านการท่องเที่ยว (ร้อยละ 16) ด้านการเกษตร(ร้อยละ9) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ (ร้อยละ5) ด้านสังคม คุณภาพชีวิตและความมั่นคง(ร้อยละ 5) ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ร้อยละ4) ด้านการค้าการลงทุนและสินค้า OTOP (ร้อยละ3) และอื่นๆ (ร้อยละ1)
7.ครม.อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่อัตรา 5 บาทต่อลิตรต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดระยะเวลาการลดภาษีฯในวันที่ 20 พ.ค. 2566 ไปเป็นวันที่ 20 ก.ค. 2566 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงผันผวน โดยกระทรวงการคลัง ประเมินผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและผลกระโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการในครั้งนี้ ประมาณ 2 เดือน จึงคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้ ช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศซึ่งเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือในระดับที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พิจารณาแล้ว ภาพรวมในระบบเศรษฐกิจทุกมิติ จะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
และ 8. ครม.อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 867.88 ล้านบาท สำหรับดำเนินการจัดนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 867.88 ล้านบาท สำหรับความจำเป็นในการขออนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีครั้งนี้ เนื่องจากตามแผนการเข้าร่วมงานมีกำหนดการรับมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารนิทรรศการไทย(Thailand Pavilion) ในการจัด Expo ในเดือนเม.ย. 66 ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่สร้างอาคารจัดนิทรรศการ ตั้งแต่ พ.ค.66- ต.ค. 67