ค่ายกรุงไทยแอบเชื่อ! กนง.ส่อลด ‘ดบ.นโยบาย’ เหตุปมสารพัดข่าวร้ายเศรษฐกิจ

Krungthai COMPASS  ยังเชื่อ! กนง.ส่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า หลังประชุมล่าสุด คงอัตราเดิมที่ 2.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เผย! เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังเสี่ยง! หลังตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแอ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง แถมยังเจอสินค้าจีนตีตลาด กระทบผู้ผลิตในไทยอีก

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงบ้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้ขยายตัวได้ดี ด้านการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าบางกลุ่มถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะการปรับตัวของรายได้กลุ่มแรงงานภาคการผลิตและอาชีพอิสระค่อนข้างช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะข้างหน้า จะต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลงได้มากกว่าที่มองไว้ ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าเกษตรซึ่งจะชะลอตัวลงตามผลผลิตที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้ราคาหมวดพลังงานและอาหารสดมีแนวโน้มจะไม่เร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต อีกทั้งการแข่งขันจากสินค้านำเข้าสูงขึ้น ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ยังต้องติดตามผลจากการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านต้นทุนการกู้ยืมภาคเอกชนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม ภาพรวมของสินเชื่อภาคธุรกิจทรงตัว แม้ปัญหาเชิงโครงสร้างกดดันสินเชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ให้หดตัว ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอตัวและมีสัญญาณคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ปัจจัยหลักจากรายได้กลุ่มเปราะบางซึ่งฟื้นตัวช้าและกดดันความสามารถในการชำระหนี้ โดยคณะกรรมการ กนง. มีความเห็นว่าจะต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจต่อไป

มาตรการหนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs มีความสำคัญ ซึ่ง คณะกรรมการ กนง. สนับสนุนต่อแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึง นโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ได้ถอดรหัสความคิดของ กนง. โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังเปราะบาง สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อภาพเศรษฐกิจที่แผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งคาดว่า GDP เติบโต 0.7%QoQsa (เทียบกับ 1.2% ในครึ่งปีแรก) ตามการบริโภคระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มชะลอตัวและมีบทบาทน้อยลงต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่ การลงทุนอาจเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติมจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการผลิต สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ซึ่งประเมินเช่นกันว่า เศรษฐกิจช่วง 2H67 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนซึ่งอาจแผ่วลงจากสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ติดลบและการหดตัวของดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยหนึ่งจากการตีตลาดของสินค้าจีน ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นตามการยกระดับของสงครามการค้าและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ มุมมองของ กนง. ต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ จะช่วยเปิดช่องเพิ่มเติมสำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง Krungthai COMPASS ยังมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอ่อนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ครอบคลุมสินค้า 67.06% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ล่าสุดในเดือน ก.ค. 2567 อยู่ที่เพียง 0.52% ทรงตัวต่ำกว่า 1.0% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว สะท้อนถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password