โครงการ “ดิจิทัลวอลเลต” มี “อุปสรรค-ทางออก” อย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ประเด็นถกเถียง “วิกฤตเศรษฐกิจ” กระพือขึ้นอีกครั้ง หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับความเห็นกระทรวงการคลัง หากจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57 นั่นคืออยู่ในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และ ความคุ้มค่า

ที่สำคัญ โครงการดิจิทัลวอลเลต เป็นนโยบาย “เรือธง” ของ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ประกาศโดย นายเศรษฐา ทวีสิน 1ในแคนดิเทนายกฯ ระหว่าง เดินหายหาเสียงทั่วประเทศ ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ เรียกความสนใจได้จากทุกฝ่าย และ กลายเป็น ประเด็นร้อนทางการเมือง ที่ฝ่ายตรงข้าม นำมาเป็นประเด็นโจมตี โดยเฉพาะ จะเป็นการสร้างปัญหาหนี้สินให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

ก่อนหน้านี้ มีนักการธนาคาร อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ทำบัญชีหางว่า คัดค้าน ขำนวนมาก แจ่ ขณะเดียวกัน ประชาชนในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะ ฐานเสียงของ พรรคเพื่อไทย ต่างชูธง สนับสนุน จำนวนมากเช่นกัน

บทสรุป กรณีดังกล่าว ยังไม่คลคี่คลาย แต่ ล่าสุด มีเสียงสะท้อนจาก นักวิชาการ ด้านเศรษฐศาสตร์ แสดงมุมมอง ที่น่าสนใจดังนี้

อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

เมื่อกฤษฎีกาตอบเรื่องเงื่อนไขกฎหมาย ไม่ได้ไฟเขียวให้ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ต้องไปดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยกฤษฎีกาเห็นว่าทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤตของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ

คำว่า วิกฤตทั่วไปต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนและยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก ความหมายคือทำได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว

ส่วนที่หลายกลุ่มออกมาค้านเรื่องนี้เพราะมองว่ายังไม่วิกฤตนั้น ก็เป็นความเห็นต่างเรื่องวิกฤต ตอนนี้เศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่ได้เผชิญภาวะวิกฤต แต่คนบางกลุ่มบางธุรกิจยังเจอวิกฤตอยู่ เพราะยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี 2563 แต่บางส่วนเริ่มทยอยฟื้นตัวแล้ว

แม้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะต่ำกว่าเป้าหมายและต่ำกว่าศักยภาพมาก แต่ก็ยังขยายตัวเป็นบวก อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตก็ควรมีมาตรการเศรษฐกิจรองรับ

ทั้งนี้ นโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลจะเตรียมเอาไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ยังไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ เพราะภาวะเศรษฐกิจยังสามารถขับเคลื่อนได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงเวลานี้

ส่วนที่นายเศรษฐา และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่าเดินหน้าโครงการต่อได้แน่นอนนั้น ส่วนตัวมองว่าที่สุดแล้วโครงการจะไปต่อได้จริงๆ หรือไม่ ต้องดูประเด็นข้อกฎหมายให้รอบคอบ และประเมินสภาวะเศรษฐกิจเป็นระยะๆ

อย่าลืมว่ากลไกในการบริหารประเทศและองค์กรอิสระนั้นถูกตั้งโดยรัฐบาล คสช. มาจากผลพวงของการรัฐประหาร ส่วนที่วิจารณ์กันว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ แค่หาทางลงนั้นก็แค่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็รับฟังไว้ได้

ในเมื่อเศรษฐกิจยังไม่มีวิกฤติตอนนี้ จะไปพิสูจน์ว่ามีวิกฤติคงไม่ได้ เพราะมันฝืนความเป็นจริง หากเดินหน้าทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ใช่การแก้วิกฤติ แต่รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นว่ามุ่งหมายเดินหน้าโครงการเพื่อทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้น ลดปัญหาหนี้และกระจายรายได้ รวมทั้งต้องทำให้เงินที่แจกนำไปสู่การลงทุนมากกว่าการบริโภค

ที่รัฐบาลอ้างชาวบ้านร้านตลาดมองว่าเศรษฐกิจวิกฤตนั้น คนแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่อยู่ในสภาพที่แตกต่างกัน บางกลุ่มยังเจอวิกฤติอยู่ ดังนั้นอาจใช้มาตรการหรือนโยบายพุ่งเป้า จะได้ผลและมีประสิทธิภาพมากกว่าและใช้เงินงบประมาณน้อยลง

ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลรับฟังความเห็นรอบด้านอยู่ จึงมีการดำเนินการนโยบายนี้ด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินที่ต้องผ่านกรัฐสภา

หากรัฐบาลตั้งเป้าจะเดินหน้านโยบายนี้ได้ในเดือนพ.ค.ก็น่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ ยกเว้นมีเครือข่ายของอีกขั้วหนึ่งซึ่งไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน อาจยื่นร้องให้ชี้ขาดโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

กฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงแต่ให้ใช้ดุลพินิจ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าจะกู้ในลักษณะที่เพิ่มเติมจากงบประมาณต้องอยู่ในลักษณะที่เกิดวิกฤตจำเป็น ซึ่งเกิดการถกเถียงกันในสังคมโดยรัฐบาลบอกว่ามีวิกฤต

ส่วนที่ 2 ที่กฤษฎีกาให้เป็นดุลพินิจ ต้องคำนึงถึง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งมีประเด็นเช่นหนี้สาธารณะ ที่มีอยู่ 62 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีหนี้เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท อาจขึ้นถึง 64 เปอร์เซ็นต์ กฤษฎีกาจึงไม่ฟันธง

กรณีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาทของรัฐบาลชุดก่อน ไม่มีปัญหาเนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นเรื่องของดุลยพินิจที่กฤษฎีกาให้รัฐบาลพิจารณา รัฐบาลก็บอกว่าวิกฤตอ้างเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มบอกว่าไม่มีวิกฤต

มองว่ารัฐบาลก็ไม่ผิดเพราะมีปัญหาจริง เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำติดต่อกันมา 10 ปี เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.6 ขณะที่อัตราการเติบโตของอาเซียน 4.3 ปีที่แล้วก็มีปัญหาขยายตัวต่ำกว่าอาเซียนคือ 2.4 ต้องนิยามว่าถึงจุดวิกฤตหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลพูดก็ไม่ผิดเพราะมองในแง่วิกฤต

ถ้ามองว่าเป็นวิกฤตทำไมออกเป็น พ.ร.บ. อาจอธิบายได้ง่ายคือเวลาที่เกิดวิกฤตต้องดำเนิน 2 อย่าง 1.รีบดำเนินการ แบบกระหืดกระหอบ

2.ดำเนินการตามขั้นตอน กรณีนี้ แทนที่จะออกเป็น พ.ร.ก. แต่คิดว่ายังพอมีเวลาที่จะทำให้ถูกขั้นตอน เพราะกฤษฎีกาก็บอกขอให้รอบคอบ จึงใช้วิธีนี้ป้องกันภัยตัวเองโดยฟังจากหลายฝ่าย และเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ 3 วาระ ออกเป็น พ.ร.บ.ก็ไม่ได้ผิดอะไร

แต่ท้ายที่สุด หากดำเนินการโครงการนี้อย่าให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลัง งบ 500,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องขยายเพดาน ไทยขยายจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 70 เปอร์เซ็นต์

แต่การขยายเพดานหนี้สาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเสถียรภาพทางการคลัง

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหานี้ คือ 1.อย่าให้หนี้สาธารณะบานปลาย หรือขยายตัวมากไปกว่าผลกระทบจากโควิด

2.ต้องป้องกันไม่ให้มาตราการอื่นๆ สะสมสร้างหนี้เกินเลยจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และรัฐบาลต้องออกมาตรการที่ให้นักลงทุนเห็นว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐบาลมีมาตรการลดภาระหนี้ลง คือกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งออก

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเชิญต่างชาติมาลงทุน หากดึงการลงทุนเข้ามาได้จะช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง จะทำให้รัฐบาลบรรลุสิ่งที่ต้องการ ที่ระบุ 1 ปี จะคืน 1 แสนล้านบาท

เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในขณะนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่กระทบต่อวินัยทางการคลัง ซึ่งเป็นภาระของรัฐบาล

ฉะนั้น ไม่มีใครตอบได้ว่า จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ รัฐบาลจึงไม่ควรคุยกับทางผู้ว่าฯ ธปท. สองต่อสอง แต่ควรคุยในระดับของคณะกรรมการ เพื่อทำให้เห็นภาพ

อีกด้านหนึ่งคือการใช้สภาปรึกษาหารือ รวมถึงหามาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไม่เกิดการขยายตัวเสถียรภาพทางการคลัง ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีรูปธรรมในเรื่องโครงการต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันกับนักลงทุนต่างประเทศได้อย่างไร

ขณะนี้ตนไม่ขอกล้าออกความเห็น ขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลกำลังปรึกษาหารือจะเป็นอย่างไร ถ้าปรึกษาหารือและผ่านสภา 3 วาระ ไทม์ไลน์ พ.ค.ก็น่าจะทัน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ ทำแล้วไม่มีปัญหา

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

บอกได้เลยว่าไม่วิกฤต หากเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวติดลบ และทำให้เกิดการว่างงานรุนแรง

สถานการณ์ที่ชัดว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกคือ ช่วงปี 1930 อีกสถานการณ์คือโควิด-19 เพราะมีการปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกติดลบหลายประเทศ และนำพามาซึ่งการตกงาน นี่คือสถานการณ์วิกฤต

ส่วนระดับประเทศต้องดูระดับธนาคารมีปัญหา สถาบันการเงินถูกปิด เศรษฐกิจติดลบ คนตกงาน คือช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 ฉะนั้นที่บอกเศรษฐกิจขยายตัวบวกน้อย ไม่มีเกณฑ์ที่ทำให้เชื่อว่านี่คือวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ไม่ใช่การติดลบ และไม่ควรเรียกว่าวิกฤต

ส่วนรัฐบาลจะบอกเศรษฐกิจวิกฤต หรือยืนยันจะทำโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องไปตีความทางกฎหมายและส่งไปยังกฤษฎีกา ซึ่งกฤษฎีกาก็ต้องเติมความเห็นว่า วิกฤตจริงหรือไม่

กมธ.สภาก็เริ่มถามหน่วยงานต่างๆ ว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ ต้องมีการพิสูจน์ชัดจากหลายหน่วยงาน คำถามคือใครเป็นคนตัดสินใจ และวกกลับมาที่ข้อกฎหมายว่าละเมิดหรือขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีช่องว่างของกฎหมายก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลตีความ

สุดท้ายเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง อาจมีการอภิปรายในสภาหรือนอกสภา ความสุ่มเสี่ยงเป็นภาระที่รัฐบาลต้องรับไว้ และวิเคราะห์ว่ามันเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ถ้าไม่เสี่ยงรัฐบาลก็ดำเนินการได้

และหากมีคนชี้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือเสี่ยงต่อกฎหมายก็ต้องเป็นคดีความ ซึ่งยากในการตัดสินเพราะวินาทีนี้รัฐบาลยังคงยืนยันว่าเศรษฐกิจวิกฤต

อย่างไรก็ตามไม่มีนิยามอ้างอิงที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทั่วโลก แต่ตอนนี้เราตีความว่า ไม่น่าใช่วิกฤต ถามนักวิชาการส่วนใหญ่ก็บอกว่า ไม่วิกฤต แต่ในเมื่อรัฐบาลนิยามว่าวิกฤต จากการค้าขายฝืดเคือง เศรษฐกิจโตต่ำ แต่เมื่อดูอัตราว่างงานซึ่งมีน้อยมาก ธนาคารก็มั่นคง จึงไม่เข้าข่ายวิกฤต

ทั้งนี้ หลังกฤษฎีกาตอบกลับกระทรวงการคลังโดยให้สังเกตข้อกฎหมาย ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลังมาตรา 53 และ 57 รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

นายเศรษฐา ก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ ไม่แสดงอาการลังเลว่าจะกลับไปศึกษาหรือทบทวน เจอผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ก็ยังคุยเรื่องเงินดิจิทัล คิดว่านายกฯจะยึดหลักว่านี่คือโครงการเสาหลักของรัฐบาล

ดังนั้น ในเชิงตรรกะทางการเมือง ท่าทีของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยืนยันจะทำเรื่องนี้ต่อ และการแปลความของกฎษฎีกาไม่ได้ห้าม แต่ต้องไปทำตามเงื่อนไข

รัฐบาลก็คงเตรียมประชุมและเดินหน้าต่อโดยอาศัยกลไกการพูดคุยของคณะกรรมการ ไปดูวิธีการทำงาน จากนั้นดำเนินการทีละขั้นตอนเพื่อตอบกฤษฎีกา และดูว่ากฤษฎีกาจะฟันธงมาว่า ให้ทำ หรือไม่ให้ทำ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องดูต่อ

ถ้ากฤษฎีกายังชี้ไม่ชัด รัฐบาลอาจดูข้อกฎหมาย หรือทำโดยผ่านสภา ที่อาจให้ความเห็นผ่านโดยเสียงข้างมากโครงการก็ไม่น่าจะสะดุดลง เมื่อไปถึง สว. ถ้าไม่ให้ผ่านก็กลับมาที่สส. ซึ่งยืนยันให้ผ่านได้ ดังนั้นเชิงตรรกะด้านเศรษฐกิจและการเมืองคิดว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อเนื่อง

ถ้าไม่ทำจะเป็นผลลบกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน การยืนยันของนายกฯ ยิ่งยืนยันว่ารัฐบาลต้องทำให้ได้ ไทม์ไลน์น่าจะเป็น พ.ค.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทัน และทำให้เศรษฐกิจปี 67 เติบโตให้ทัน 4% เพื่อให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยสูงขึ้น

สุดท้ายแล้วต้องดูว่าเมื่อรัฐบาลลงมือทำแล้ว กฤษฎีกาจะชี้ประเด็นอะไรมา หรือมีความสุ่มเสี่ยงในด้านกฎหมายมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้เรื่องนี้จะชี้ชัดมากขึ้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password