“สภาพัฒน์” แจงการขึ้นเงินเดือน ขรก.ไม่ได้ปรับขึ้นทั้งระบบ เผยการจ้างงาน Q3 ขยายตัว1.3%

เลขาฯ สภาพัฒน์ แจงขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ใช่การปรับขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ ย้ำเป็นการเสนอปรับฐานเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ ให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ลุ้นเสนอครม. 28 พ.ย.นี้

วันที่ 27 พ.ย. 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตอนหนึ่งในช่วงของ การรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 ถึงการปรับ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ว่า คงต้องรอติดตามว่าจะนำเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ หรือในสัปดาห์หน้าหรือไม่ แต่เบื้องต้นเชื่อว่า การปรับอัตราเงินเดือนรอบใหม่จะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ

สำหรับเรื่องขึ้นเงินเดือนคงต้องรอเรื่องเข้าครม.วันพรุ่งนี้ หรือไม่ก็สัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่อาจดูไปที่ระดับข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ ที่มีฐานเงินเดือนอาจจะต่ำเมื่อเทียบเงินเดือนภาคเอกชน แต่ทั้งหมดคงต้องรอรายละเอียดและวิธีการเข้าครม. ก่อนแต่ในแง่การช่วยยืนยันว่าจะไม่ได้ทำทั้งระบบ

อย่างไรก็ตามส่วนการทำช่องว่างทางการคลังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งถือเป็นการจัดลำดับการใช้จ่าย ขยายฐานรายได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ซึ่งจะต้องทำให้ช่องว่างทางการคลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการต่าง ๆ พบว่า มีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการของรัฐที่ออกมาในช่วงที่แล้ว โดยมาตรการบางตัวอาจจะต้องทำควบคู่กันไปกับการสร้างความสามารถรายได้ของบุคคลให้มีรายได้มากขึ้นด้วย

นายดนุชา กล่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 40.1 ล้านคน ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 2% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 8.3%

อย่างไรก็ตามชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.6 ล้านคน หรือลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 1.9 ล้านคน และผู้ทำงานต่ำระดับ มีจำนวน 2 แสนคน ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ด้านค่าจ้างแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2566 ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมอยู่ที่ 15,367 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 0.99% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานจะลดลง ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และการว่างงานลดลงเกือบทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุน้อยยังคงมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง

นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมของไทยรองรับแรงงาน 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่มีสัดส่วน GDP เพียง 6.3% และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2.การหดตัวของการส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต และ3.ระดับราคาที่สินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password