ประธาน ส.อ.ท.หนุน 21 เขต เศรษฐกิจ สมาชิกเอเปค

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท. หนุน 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค เปิดประเทศเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหารัสเซีย-ยูเครน แม้ไม่ได้มีการพูดคุย แต่ยังคงจับตาสถานการณ์ เนื่องจากมีผลกระทบต่อ”พลังงาน-เศรษฐกิจ”

วันที่ 22 ก.พ. 2565 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธาน ABAC 2022 กล่าวว่า ในปี 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคนั้น ภาคเอกชนโดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council – ABAC ได้มีการจัดประชุมร่วมกัน ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 1 ประจำปี 2022 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.พ. 2565 ณ Resorts World Sentosa Convention Center ประเทศสิงคโปร์

โดยมีสมาชิกเช้าร่วมอย่างน้อย 300 คน จาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ภายใต้คำกล่าวในการประชุมครั้งนี้ คือ “การเปิดรับความท้าทาย ความร่วมมือร่วมใจ และการส่งเสริมโอกาส เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เพื่อยืนยันความตั้งใจในการทำงานร่วมกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ในภูมิภาคที่มีความซับซ้อน ความสอดประสาน และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ABAC 2022 ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE โดยภาคเอกชนต่างตระหนักดีว่า ขณะนี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ก็เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส พวกเราสามารถยกระดับการทำงานร่วมกันโดยการ ร่วมมือกันเปิดรับความท้าทาย และขยายข้อจำกัด ให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

ทั้งนี้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID ยังเป็นข้อห่วงกังวลหลัก แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ เป็นโอกาสที่จะเปิดรับความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ด้วยการผลักดันให้กลับมาเปิดพรมแดน โดยมีการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม มีแนวทางการเดินทางในภูมิภาคที่สอดคล้องกัน ตลอดจนความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิต และการเจริญเติบโตโดยการส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้าง โดยมีเป้าหมายต้องการเปิดพรมแดนทั้ง 21 เขตเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า การส่งออก โดยเห็นว่ามีหลายประเทศเริ่มจะเปิดประเทศ และส่งสัญญาณไปในทางดี พร้อมลดข้อจำกัดการเดินทางด้วย

สำหรับประเทศไทยเองอยากให้มีการลดข้อจำกัดในเรื่องของการตรวจ PCR หากสามารถดำเนินการได้ให้มีการตรวจ ATK ในวันที่ 5 เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้เดินทาง พร้อมกันนี้ มองว่าประเทศไทยไม่ ถึงขั้นจะต้องทำการล็อกดาวเพียงจะต้องทำการสื่อสารและการจัดระบบในเรื่องของการดูแลรักฟ้าที่บ้านให้ดีขึ้น และสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเชื่อว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจะมีคนติดเยอะ แต่ต้องประเมินอีก 2 อาทิตย์ ผู้ติดเชื้อจะเป็นจำนวนมากเช่นกัน ไทยยังคงต้องเดินหน้าเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในประเด็นปัญหารัสเซียกับยูเครน ที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุยอยู่บ้างแต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจก็ยังให้ความเป็นห่วงและกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหลายฝ่ายเห็นว่าไม่ต้องการให้เกิดสงคราม และยังให้ความกังวลในสถานการณ์ราคาพลังงาน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ รวมถึงภาคเศรษฐกิจ

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น มองว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก และไม่รุนแรงหากเทียบกับประเทศที่มีปัญหาข้อพิพาทกัน โดยทางภาครัฐเองก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องของพลังงานเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ หรือผู้บริโภคเพราะหากราคามีการปรับตัว ย่อมมีผลกระทบต่อราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงค่าไฟฟ้าหรือก๊าซหุงต้ม ดังนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์และประเมินกันอีกครั้ง

“การประชุมครั้งนี้ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากเนื่องจากในที่ประชุมไม่ได้มีตัวแทนทางรัสเซียเนื่องจากสิงคโปร์ยังไม่รอมรับวัคซีนสปุกนิค ส่งผลให้ผู้ฉีดวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถเดินทางมาได้รวมประชุมได้ อีกทั้ง สหรัฐเองก็ยังไม่มีความพร้อม จึงไม่ได้พูดคุยกันมากนัก”

นายสุพันธุ์กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ “ผู้นำเอเปค ได้กำหนดเป้าหมายสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งได้มีการวางรากฐานไว้แล้ว จำเป็นต้องมีการต่อเติมโครงสร้าง โดยต้องคำนึงถึงประเด็นด้าน ความยืดหยุ่น (Resilience) ความยั่งยืน (Sustainability) และความครอบคลุม (Inclusion) ที่ได้เรียนรู้มาจากการระบาดของ COVID ทั้งนี้ ABAC ต้องการเห็นองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) มีความเข้มแข็งและมีบทบาทที่มากขึ้นจากการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO Ministerial Conference)ในปีนี้

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดย ABAC จะดำเนินการตาม Climate Leadership Principles ปี ค.ศ. 2021 เพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ ABAC จะยังผลักดันการจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับระบบอาหาร (Food System) ที่มีความยั่งยืน การใช้เทคโนโลยี และการเป็นมิตรกับการค้าภายใต้ APEC Food Security Roadmap ฉบับใหม่

ท้ายที่สุด สิ่งที่จะส่งเสริมการดำเนินงานทั้งหมดคือ Digital Transformation ABAC ได้มีการจัดงาน Digital Trade Symposium และจะมีงานด้านดิจิตอลอื่น ๆ ในปีนี้” เทคโนโลยีดิจิทัล (DIGITAL TECHNOLOGY) จะช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางการค้าและสร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต “ผมพร้อมแล้วที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ABAC และทุกภาคส่วนในภูมิภาคเพื่อแสดงให้เห็นว่า APEC เปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และมีความพร้อมในการดำเนินการทั้งในปีนี้และในอนาคต”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมในครั้งนี้ มีการประชุมของคณะทำงาน จำนวน 5 คณะ โดยมีข้อสรุปประเด็นสำคัญในการผลักดันในปีนี้ ได้แก่ 1.Regional Economic Integration Working Group (REIWG) Working Group Chair: Lam Yi Young, ABAC Singapore โดยมีข้อสรุป คือ ข้อตกลง FTAAP สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกตามระบบการค้าพหุภาคี ส่งเสริมการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค การเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัยหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

2.Digital Working Group (DWG) Working Group Chair: Jan De Silva, ABAC Canada โดยมีข้อสรุป คือ ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าและความสามารถในการแข่งขัน ขยายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

3.MSME and Inclusiveness Working Group (MSMEWG) Working Group Chair: Dato Rohana Mahmood, ABAC Malaysia ส่งเสริมระบบดิจิตอลสำหรับ MSMEs ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนสำหรับ MSMEs การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสำหรับ Supply Chain Finance ของ MSMEs

4.Sustainability Working Group (SWG) Working Group Chair: Frank Ning Gaoning, ABAC China โดยมีข้อสรุป คือ การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร

5.Finance and Economics Working Group (FEWG) Working Group Chair : Hiroshi Nakaso, ABAC Japan โดยมีข้อสรุป คือ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships – PPPs) สำหรับ Pandemic Risk Financing การเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภูมิภาค การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับระบบการเงินดิจิทัล.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password