เลขาฯคปภ.ชี้! Q1/66 ธุรกิจประกันฯโต 4 เท่า – ฝาก ‘คนใหม่’ สานต่อภารกิจหนุนอุตฯประกัน-ดูแลคนไทย

เลขาธิการ คปภ. เผย! ไตรมาสแรก ธุรกิจประกันภัยไทยโตเกินคาดการณ์เกือบ 4 เท่าตัว พร้อมถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ชี้! แม้เกิดความเสียหายด้านวงเงินประกันภัย แต่ก่อประโยชน์ด้านการสร้างหลักประกันให้ประชาชนสุดๆ ย้ำ! นำเทคโนฯสมัยใหม่มาใช้ ต้องเน้นทั้งขายและเคลมด้วย ระบุ! ไต้หวันยกแนวคิดไปใช้ แต่บริษัทประกันฯไม่ติดปัญหาจ่ายเงิน 2 แสนล้านบาท เคลมค่าประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” แบบของไทย ฝาก “เลขาธิการคนใหม่” สานต่อแนวทางดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชน ด้าน “คน คปภ.” แนะ! หากได้ “คนใน” เป็น “ผู้นำองค์กร” เชื่อจะขับเคลื่อนงานได้ทันที เหตุ! “ผู้บริหาร-จนท.” ลับฝีมือ พร้อมลุยภารกิจด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภายใต้บริบทใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการทำธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่าง พิธีแถลงข่าว “การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภายใต้บริบทใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม โรงแรมไมด้า รีสอร์ท กาญจนบุรี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ว่า ตนจะครบวาระการดำเนินงานในฐานะ “เลขาธิการ คปภ.” สมัยที่ 2 รวม 8 ปี ณ วันสิ้นเดือนตุลาคม 2566 นี้ โดยมีหลายภารกิจที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และมีหลายภารกิจที่กำลังดำเนินงานอยู่ แต่ยังมีบางภารกิจที่ต้องฝากไปยังผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนตนให้ช่วยดำเนินการต่อ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมการประกันภัยและประชาชน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้าน “อินชัวร์เทค” มาปรับใช้ในการดำเนินงาน และการพัฒนาบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้อง (ด้านไอที) ซึ่งตนได้นำร่องดำเนินการใน 2 ส่วนนี้ไปบ้างแล้ว รวมถึงภารกิจด้านอื่นๆ (รายละเอียด “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” จะนำเสนอในโอกาสต่อไป)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบความท้ายทายจากปรากฏการณ์ “โรคอุบัติใหม่” ผ่านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยนั้น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ เพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนในขณะนั้น แต่พอบางบริษัทบริหารความเสี่ยงไม่ดีพอ ทำให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันโควิดเจอจ่ายจบ ต้องยุติบทบาทไป ทั้งๆ ที่มีประโยชน์และทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ โดยบริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเคลมไปกว่า 80,000 ล้านบาท ฉะนั้นการทำธุรกิจประกันภัยรวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยจึงต้องเน้นความยั่งยืน โดยไม่ได้มุ่งแค่การสร้างกำไรในระยะสั้น

“สิ่งที่ คปภ.ได้ดำเนินการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ยอมรับว่าเราเองก็ไม่รู้ว่าผลของมันจะลงเอยเช่นใด แต่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยและดูแลผลประโยชน์ทางด้านการประกันภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยกติกาที่เราใช้อยู่ แม้ว่าจะใช้มันอย่างถูกต้อง แต่ก็อาจจะไม่รองรับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อย่างเช่นโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น จึงต้องเร่งในการปรับกติกาให้ยืดหยุ่น และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้สามารถได้ข้อมูลที่เป็นแบบ realtime และใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งต่อพบว่ามีหลายประเทศได้นำแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวไปใช้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศไต้หวัน ที่ได้นำทั้งการประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิดฯและวัคซีนป้องกันโควิดฯไปใช้ โดยบริษัทประกันภัยของไต้หวันมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนฯรวมกันราว 2 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่เป็นปัญหาในการจ่ายเงิน เพราะสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีปัญหาเหมือนของไทย

เลขาธิการ คปภ. ระบุอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยมาก และสิ่งนี้ สะท้อนได้จากตัวเลขประมาณการการเติบโตของการทำประกันภัยที่คาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จะเติบโตได้แค่ 1% เศษ แต่กับตัวเลขที่ออกมาจริงพบว่า มีสูงมากถึง 4.81% และมีแนวโน้มว่าทั้งปี อัตราการเติบโตก็น่าจะยังอยู่ในระดับที่สูงไม่ต่างจากไตรมาสแรกของปีนี้สักเท่าใดนัก ส่วนหนี่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการที่บริษัทประกันภัยต่างนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (อินชัวร์เทค) มาใช้ในการดำเนินงานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอความร่วมไปยังบริษัทประกันภัยต่างๆ ให้ช่วยยกระดับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทั้งในด้านการขายประกันภัย และการรับเคลมประกันภัยให้สอดคล้องกันด้วย เนื่องจากมีกรณีตัวของผู้เอาประกันภัยชาวต่างชาติในประเทศไทย ที่ได้ร้องเรียนถึงการไม่สามารถติดต่อสอบถามข้อด้านการเคลมฯจากระบบแชตบอทของบริษัทประกันภัยได้ เรื่องมันจึงกลายเป็นไปในแบบที่บริษัทประกันภัยของไทยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในลักษณะของ “เน้นขาย ไม่เน้นเคลม” มากกว่า

“สิ่งที่ผมร้องขอให้เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ ที่จะเข้ามารับไม้ต่อจากผม ได้ช่วยสานต่อการดำเนินงานที่ คปภ.ได้ดำเนินการเอาไว้แต่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น เป็นสิ่งที่ เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะอาจเห็นว่า มีแนวคิด แนวทาง หรือนโยบายใหม่ๆ ที่สอดคล้องและเหมาะสมกว่า เพียงแต่ผมเชื่อว่า สิ่งที่ คปภ.ยุคนี้ ได้ดำเนินการไปนั้น ได้สร้างประโยชน์อย่างสูงต่ออุตสาหกรรมการประกันภัยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” นายสุทธิพล ย้ำ

ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงจาก คปภ. กล่าวเสริมว่า เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ จะเป็น “คนนอก” หรือ “คนใน” ก็ยังไม่รู้ เนื่องจากขณะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายใน 3 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และระดับปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งระดับหลังนี้ จะทำหน้าที่ “ประธานคณะกรรมการ คปภ.” โดยตำแหน่งไปด้วย ดังนั้น เมื่อทุกตำแหน่งทั้ง 3 ระดับยังไม่เกิดขึ้น การสรรหาตัว เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ ก็จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ทราบว่ามีหลายคนสนใจสมัครเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการ คปภ.คนใหม่ กันบ้างแล้ว ซึ่งมีทั้ง “คนใน” และ “คนนอก” ที่มีกระแสข่าวระบุว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้วางตัวผู้สมัครเข้าแข่งขันในการคัดเลือกชิงตำแหน่งเลขาธิการ คปภ.คนใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวของตนนั้น ไม่ว่าเลขาธิการ คปภ.คนใหม่ จะเป็น “คนใน” หรือ “คนนอก” หากยังคงเดินตามแนวทางที่ นายสุทธิพลได้วางเอาไว้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมากทีเดียว เนื่องจากผู้บริหารทุกระดับและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของสำนักงาน คปภ. ได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกันไปแล้ว ทั้งนี้ หากได้ “คนใน” มาทำหน้าที่  เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการในการบริหารงานภายใน สำนักงาน คปภ. ได้ทันที อีกทั้ง หากต้องการข้อเสนอแนะจาก นายสุทธิพลในฐานะผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการวางกลยุทธ์การดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. ก็สามารถทำได้ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ซึ่งต่างไปจาก “คนนอก” ที่อาจไม่สานต่อการดำเนินงาน หรือหากสานต่อ แต่จะไม่ขอรับการปรึกษาจากอดีตเลขาธิการ คปภ.คนก่อนอย่างแน่นอน

“ส่วนตัวของผม รวมถึงผู้บริหารคนอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน ล้วนอยากเห็นใครก็ได้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็น เลขาธิการ คปภ.คนใหม่ โดยสานต่อการทำงานจาก อดีตเลขาธิการ คปภ.คนเก่า ได้อย่างกลมกลืน ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ที่จะเป็นปัญหาต่อองค์กรและบุคคลากรภายในสำนักงาน คปภ.” แหล่งข่าวระดับสูง ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password