นายกฯ เชิญผู้ว่าแบงก์ชาติจิบกาแฟถก “ปมดอกเบี้ย” สอท.แนะธปท. ลดทันที อย่ารอเฟด

“เศรษฐา ทวีสิน” เชิญผู้ว่าแบงก์ชาติจิบกาแฟถก “ปมดอกเบี้ย” ชี้ เป็นการเชิญมาพูดคุยกัน ขณะที่ สอท.แนะ ธปท.อย่ารอเฟด ให้ประกาศ ลดอัตราดอกเบี้ยทันที ด้สาน ธนาคารออมสิน ขานรับ ลดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลงแล้ว จาก6.995 เหลือ 6.845

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการเรียกนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือ กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับสูงมีช่องว่างห่างจากดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก เป็นภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชน โดยเรียกร้องให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงว่า อย่าใช้คำว่าเรียกดีกว่า เป็นการเชิญนายเศรษฐพุฒิมาพูดคุยกัน เพราะคำพูดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้อาจดูไม่ดี

“ผมเชิญท่านมาพูดคุยกัน ซึ่งผู้สื่อข่าวทั้งหลายเคยให้คำแนะนำว่า อย่างที่ผมเคยพูดจะเชิญมาพูดคุยกันทุกเดือน แต่เดือนที่แล้วไม่ได้มา แต่ก็ได้คุยโทรศัพท์กัน โดยในวันที่ 10 มกราคมก็เชิญมาพูดคุยกันธรรมดา กินกาแฟกันที่ห้องทำงาน ทำเนียบรัฐบาล” นายเศรษฐา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นแตกต่างของนายกฯและนายเศรษฐพุฒิ จะมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “คนอยู่บ้านเดียวกัน เห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ผมว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน”

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย ว่า สิ่งสำคัญที่ ธปท.ควรทำในเวลานี้ คือการลดดอกเบี้ยทันทีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปีนี้ ไม่ต้องรอการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารโลก (เฟด) เพราะปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่ดีนัก จากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงมากและสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ในฐานะที่เคยเป็นเอสเอ็มอีมาก่อนเข้าใจถึงต้นทุนทางการเงินนี้ดีว่ากระทบต่อการทำธุรกิจอย่างมาก นอกจากนี้อยากให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเป็น 60% เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน เพราะปัจจุบันเงินในระบบธนาคารมีจำนวนมาก แต่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้

นายสุพันธุ์กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้เชื่อว่าจะดีขึ้นจากปัจจัยหลักในประเทศ คือการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกต้องติดตามสถานการณ์โลกอีกครั้ง เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมอบหมายสถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนนโยบายในลดภาระทางการเงินของประชาชน โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ธนาคารออมสินตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ก่อน ล่าสุดธนาคารออมสินได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (เอ็มอาร์อาร์) หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ในระดับต่ำจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยประกาศดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์จากเดิม 6.995% ลดลงเหลือ 6.845% มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงระยะนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ที่ต่ำสุดในระบบธนาคารในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (Minimum Retail Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ใช้สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็น กลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ครั้งนี้ ตั้งเป้าช่วยเหลือประชาชนในภาวะที่ต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินมากขึ้นในการดำรงชีพ สนับสนุนนโยบายของรัฐ สอดคล้องภารกิจธนาคาร

ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้รายงานการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมาย และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงต้นปีนี้ยังคงมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง เป็นผลจากการต่ออายุมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรออกไปอีก 3 เดือนเป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567 การตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือนในงวดบิลเดือนมกราคม-เมษายน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี จากปัจจัยต่างๆ อาทิ 1.การฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ และแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศ

2.ปัจจัยทางด้านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีความผันผวนจากความเสี่ยงของภัยแล้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้แรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนธันวาคม 2566 สูงกว่า 3 ล้านคน และยังได้ปัจจัยบวกเพิ่มจากมาตรการฟรีวีซ่า (Visa-Free) ระหว่างไทย-จีน เบื้องต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จะช่วยให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนมีความต่อเนื่อง หลังจากมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการชั่วคราวจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 35.6 ล้านคน จาก 28 ล้านคนในปี 2566

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password