คลังคาด ธปท.คลอดหลักเกณฑ์หนุนร่วมทุน ‘แบงก์รัฐ-บบส.’ แก้หนี้ให้คนไทย ภายใน ม.ค.นี้
จับตา! ม.ค.นี้ แบงก์ชาติคลอด หลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุนของ SFIs และ บบส. เพื่อจัดตั้ง JV AMC หลัง ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้างจ่ายมานาน ด้าน “โฆษกคลัง” ชี้! ออมสินนำร่อง แก้ปมลูกหนี้ตัวเอง ก่อนขยายไปแบงก์รัฐอื่น มั่นใจมาตรการนี้จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ได้คล่องตัวและยืดหยุ่น ภายใต้การบูรณาการช่วยเหลือคนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 รับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้คงค้างกับสถาบันการเงินเป็นระยะเวลานาน โดยบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) (Joint Venture Asset Management Company : JV AMC) ภายใต้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้ SFIs สามารถร่วมลงทุนจัดตั้ง บบส. และโอนหนี้บางส่วนของ SFIs ไปยัง JV AMC และเพิ่มความคล่องตัวในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ นั้น
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการร่วมลงทุนของ SFIs และ บบส. ในการจัดตั้ง JV AMC โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศได้ภายในเดือนมกราคม 2567 นอกจากนี้ ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการหารือเพื่อร่วมทุนจัดตั้ง JV AMC กับ บบส. ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสนใจร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้ง JV AMC ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยในระยะแรกจะเริ่มช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารออมสินก่อน และจะขยายความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ของ SFIs อื่นในระยะต่อไป
“กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ของ SFIs มีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขหนี้ทั้งระบบอย่างบูรณาการให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวและว่า…
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดูแลและช่วยเหลือประชาชนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) จากเดิมร้อยละ 6.995 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.845 ต่อปี มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกหนี้ตามนโยบายดังกล่าว.