สศอ.คาดปี65 ศก.ไทยขยายตัวต่อเนื่อง

สศอ. เผย MPI เดือน ธ.ค. ขยายตัวร้อยละ 6.83 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัน MPI ปี 2564 ทะลุเป้าการส่งออกสินค้าอุตฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 5.93 สูงกว่าเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการซึ่งจากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0-5.0

นอกจากนี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนธันวาคมที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 23.56 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 19,572.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2564 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป

 “สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังประเทศคู่ค้ามีมาตรการรับมือทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ   การกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น รวมถึงตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมปี 2564 อยู่ที่ระดับ 102.59 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 6.83 และขยายตัวสูงขึ้นกว่าเดือนธันวาคมปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 98.81 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19   ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 5.93 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 63.73 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และอาหารที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่สะท้อนผ่านการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จึงคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยและประเทศคู่ค้ามีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.15 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ โดยขยายตัวตามตลาดส่งออกและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตาชนิดที่ 2 น้ำมันเตาชนิดที่ 5 และน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราสูง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.52 เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าเดิมและมีจำนวนโรงงานที่เริ่มเปิดหีบมากกว่าปีก่อน รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้มีมากกว่าปีก่อน

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.24 เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.08 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางรัดของ และน้ำยางข้น เป็นหลัก โดยเป็นไปตามการขยายตัวของตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวและมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น รวมถึงขยายตัวตามความต้องการใช้ต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password