ดัชนี MPI เดือน ธ.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 6.27 ฉุดทั้งปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.11

สศอ. เผย ดัชนีMPI เดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 87.76 หดตัวร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.11 เหตุเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ลุ้นส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.22 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 คาดว่าจะทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 87.76 หดตัวร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนี MPI ปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.11 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 55.25 และทั้งปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 59.06 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ชะลอการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 3.22 ขยายตัวต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 3 ซึ่งการกลับมาขยายตัว คาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศ จากดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง การลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับเพิ่มเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญทั้ง อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในปี 2566 หดตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว ในขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องฟื้นตัว โดยอุตสาหกรรมเด่นที่ขยายตัวในปี 2566 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม น้ำตาล สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ น้ำมันปาล์ม และเส้นใยประดิษฐ์

“ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่เพื่อเป็นการยกระดับและขยายมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย ภาคการผลิตของไทยควรมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่โลกมีความต้องการบนพื้นฐานของศักยภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการส่งออกสินค้าพื้นฐานหรือแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าน้อย” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.22 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้ม เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.29 จากสายไฟฟ้า เป็นหลัก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งมอบตามคำสั่งซื้อของการไฟฟ้า

เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.28 เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากปีก่อนเร่งคำสั่งซื้อให้มีมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.80 จากแผ่นฟิล์มพลาสติก เป็นหลัก จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นหลังปีก่อนราคาสินค้าปรับสูงขึ้นตามต้นทุนเม็ดพลาสติก โดยปีนี้ราคาสินค้าปรับลดลงกระตุ้นคำสั่งซื้อให้มีมากขึ้น

เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.85 จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์อื่น ๆ จากตลาดส่งออก เป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มสิ่งทอ เป็นต้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password