MPI เดือน เม.ย. 68 ขยายตัวร้อยละ 2.17 อานิสงส์ยานยนต์ฟื้นตัวครั้งแรกรอบ 21 เดือน

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 92.30 ขยายตัวร้อยละ 2.17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ พร้อมปรับประมาณการ MPI ปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 0 – 1 ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 92.30 ขยายตัวร้อยละ 2.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 56.51 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนหลักต่อภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 21 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 1.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าที่ได้มีการจองไว้จากงานมอเตอร์โชว์ 2025

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคุณสู้เราช่วยที่ขยายเวลาลงทะเบียน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท มาตรการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) การชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าของ สหรัฐฯ ออกไปอีก 90 วัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศเร่งการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทำให้ประเทศคู่ค้าหลายแห่งได้เพิ่มการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว ร้อยละ 16.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 11.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศอาจจะชะลอตัวลง ดังนั้น สศอ. จึงปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0 – 1 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2568 คาดขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 – 2.5
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนพฤษภาคม 2568 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง” โดยปัจจัยภายในประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง ตามการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนด้านนโยบายทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ด้านปัจจัยต่างประเทศ ภาพรวมทรงตัวในระดับใกล้เคียงเดิม โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับในสหรัฐอเมริกายังคงมีความกังวลต่อเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า
“สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2568 ขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0 – 1 จากประมาณการเดิมขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2568 คาดขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5 จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีสาเหตุหลักจาก การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ” นายภาสกร กล่าว.