สศอ. ยกระดับอุตฯ เกษตรแปรรูป ผนึก 5 ประเทศภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ก้าวสู่ครัวโลก

สศอ. ร่วมกับ สถาบันอาหาร อบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ โดยมี กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน สนับสนุนเสริมสร้างเครือข่ายสมรรถนะห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศในภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้าง หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย พร้อมตั้งเป้าหมายเดินหน้าสู่ครัวโลก

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร จัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหาร “Capacity Building on Food Security in Agro- Processing Industry among Mekong Countries and People’s Republic of China” สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายและเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่สากล อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแสดงบทบาทผู้นำของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ตั้งเป้าหมายสู่ครัวโลก

สำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการนานาชาติ ได้จัดให้มีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 7 หลักสูตรแบบบูรณาการ ประกอบด้วย ความเชื่อมโยงของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ในด้านความมั่นคงทางอาหาร (MLC’s connection: Food security) ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร (Food Technology) นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคและการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน (China’s macro-economic development policy and food security) เทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป (Packaging and Materials Technology) ความรู้ด้านการเงินและการบริหารด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (Simple financial management and accounting for small entrepreneurs) และการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร (Development R&D)

รวมทั้ง การจัดศึกษาประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปของไทยทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดนครราชสีมา อาทิ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้างฟ่างแห่งชาติ และสวนเอเดน ออร์แกนิกส์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นางวรวรรณ กล่าวว่า กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นทั้งเส้นทางการค้าที่สำคัญและเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีการเพาะปลูกทำการเกษตรอย่างมากมาย อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร

อย่างไรก็ดี ยังคงมีช่องว่างในด้านเทคโนโลยี ทักษะฝีมือการผลิต และมาตรฐาน ดังนั้น การพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อมต่อกันทั้งพรมแดน วัฒนธรรม ประเพณี และประชาชนไปด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทย เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นครัวของโลกต่อไป

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password