‘รมช.อุตฯ’ แนะ ธพว. หนุน SME เข้าถึงแหล่งทุนอย่างมีประสิทธิภาพ – ชี้! ‘กลุ่มไปต่อไม่ได้’ เปลี่ยนไลน์ธุรกิจด่วน!

รมช.อุตสาหกรรม “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” เร่งจัดชั้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หวังแยกน้ำดี-น้ำเสีย พร้อมขยายวงเงินกู้จาก 50  เป็น 100 ล้าน หวังอัพเกรดการดำเนินงานสอดรับกระแสโลกด้านสิ่งแวดล้อม แนะ “กลุ่มที่ไปต่อไม่ได้” ควรเปลี่ยนสายงานธุรกิจรับเทร็นด์ตลาดโลก เผย! มอบนโยบาย SME D Bank เน้นสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและทั่วถึง รับแผน Thailand Vision ดันไทยขึ้น 8 ศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมยกระดับองค์กร สร้างกลไกขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ด้าน SME D Bank พร้อมชูเรือธง “เติมทุนคู่พัฒนา”  

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ถึงแนวทางการจัดชั้น (คัดกรอง) กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อที่ภาครัฐจะได้วางแผนในการช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการฯ และแนวโน้ม/ทิศทางของตลาดให้มากยิ่งขึ้น โดยย้ำว่า ขณะนี้ ทาง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างการแบ่งกลุ่ม แยกเป็น… กลุ่มที่มีโอกาส/อนาคตที่ดี (กลุ่มรอด) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่ กลุ่มที่กำลังจะมีปัญหา (ยังไม่รอด) และ กลุ่มที่มีปัญหาแล้ว (ไม่รอด) ก็จะต้องกลับมาดูว่า ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ ทาง ผอ.สศค. รับปากว่าภายใน 1 ปี จะดำเนินการคัดกรองกลุ่มผู้ประกอบกอบเอสเอ็มอีให้แล้วเสร็จในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการมาได้แล้วราว 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ก็มีข้อมูลพื้นฐานแยกตามรายอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จำเป็นจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ร่วมกัน เพื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อได้ตรงกับกระแสความต้องการของโลก โดยเฉพาะทางด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล) อันจะเป็นการรักษาคนไข้ได้ตรงจุดและถูกอาการได้มากขึ้น โดยประเด็นการปล่อยสินเชื่อนั้น ทาง กระทรวงอุตสาหกรรม และ SME D Bank จะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับข้อแนะนำกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหานั้น รมช.อุตสาหกรรม ระบุว่า ทาง สศอ.จะพิจารณาว่าที่ไปต่อไม่ได้นั้นเป็นเพราะอะไร หากจะเปลี่ยนสายธุรกิจจากสายเดิมไปสายธุรกิจใหม่ๆ จะทำได้หรือไม่? โดยเฉพาะในเทร็นด์ของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีอนาคตดีกว่า ซึ่งหากทำได้  ทาง SME D Bank ก็น่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการฯเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และ SME D Bank กำลังพิจารณาการขยายวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการฯใน 2 กลุ่มแรก โดยปรับวงเงินกู้จากเดิม 50 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท รองรับการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน โดยเฉพาะการที่ปรับปรุงกระบวนการผลิตรองรับกติกาใหม่ของโลก โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน ESG เช่น หากผู้ประกอบการสนใจจะทำการติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” (พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์) ก็สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนได้จากกระทรวงอุตสาหกรรม

“การเดินทางมาตรวจเยี่ยมในวันนี้ ก็หวังจะมานำเรียนไปยังผู้บริหารของ SME D Bank แม้ว่าทางแบงก์จะมีโครงการดีๆ ที่คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อมีเงิน (สินเชื่อ) สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้คน (ผู้ประกอบการฯ) เข้าถึงแหล่งเงินให้มากที่สุด มีเงินไม่สำคัญเท่ากับมีคนเข้าไปใช้เงิน และจะให้เข้าไปใช้เงินได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ SME D Bank  ก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้เขาด้วย วันนี้ SME D Bank ไม่ได้เป็นแค่เพียงแหล่งเงิน แต่ยังเป็นแหล่งความรู้ให้กับผู้ประกอบการฯด้วย ประเด็นนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางมาตรวจเยี่ยม SME D Bank ในวันนี้ และอยากให้เห็นเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ” รมช.อุตสาหกรรม ย้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้มอบนโยบายการทำงานแก่ คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ขอให้ SME D Bank นำแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน “การเงิน” จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท

ด้าน นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการ แทนกรรมการผู้จัดการ  SME D Bank กล่าวเสริมว่า SME D Bank พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยออกมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี นอกจากนั้น ยังได้ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ

ส่วนภารกิจด้าน “การพัฒนา” เพื่อยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี นั้น จะดำเนินงานผ่าน โครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3. เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน ทั้งนี้ ในปี 2567 SME D Bank ยังคงเดินหน้ากระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password