ธปท. ชี้ ศก. Q2 โตทะลุ 3% ลุยขยับดอกเบี้ยเบรกเงินเฟ้อคาดพีคสุด7.5% ยันยังไม่เรียกถกกนง.


ธปท. การันตีเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังปัง โตทะลุ 3% รับทยอยขยับดอกเบี้ยเบรกเงินเฟ้อขาขึ้น คาดพีคสุด 7.5% ลุยจัดแพ็คเกจอุ้มลูกหนี้ ยันไม่เรียก ถก กนง.นัดพิเศษในขณะนี้

วันที่ 23 ก.ค. 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2565 (จีดีพี) คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.3% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2% ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนผู้ว่างงานลดลงเหลือ 2.4 ล้านคนในปี 2566 ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ที่ 2.3 ล้านคน

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2565 จะขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีการนบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าขยายตัวเพิ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.9% สูงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.9% รายได้ของแรงงานนอกภาคการเกษตร ขยายตัว 10.3% มูลค่าการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 9.7% ขณะที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย ประมาณ 1.5 ล้านคน และคาดว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 6 ล้านคน

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่สมดุลความเสี่ยงได้เปลี่ยนไป ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นคือเรื่องของเงินเฟ้อ ทำให้โจทย์ในการทำนโยบายต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การอัดฉีดหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป้าหมายสำคัญคือการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด เป็นบริบท smooth takeoff ต่างกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ที่ต้องทำนโยบายแบบ soft landing” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดย ธปท. จะต้องทยอยปรับนโยบายและมาตรการทางการเงินที่เป็นวงกว้างในภาวะปกติ โดยนโยบายการเงินผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าเงินเฟ้อจะไม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด ก็จะต้องทำแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หากเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด การขึ้นดอกเบี้ยก็จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ในกรอบ โดยประมาณการณ์ว่า เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ไตรมาส 3/2565 ที่ 7.5% และจะกลับลงมาต่ำที่ 1.7% ตั้งแต่ไตรมาส 3/2566

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยย่อมมีผลกระทบ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับภาพรวมเศรษฐกิจก็เหมาะสมที่จะต้องทำ โดยต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งในส่วนของสินเชื่อรายย่อยปัจจุบันราว 60% ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ขณะที่สินเชื่อบ้านแม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดค่างวดไว้แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจึงจะกระทบกับลูกหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องประเมินรายได้และรายจ่ายก่อนก่อหนี้

โดย ธปท. มีมาตรการในการดูแลกลุ่มเปราะบางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นมาตรการเดิมที่มีผลอยู่ ได้แก่ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย.) ซึ่งจะสิ้นสุดปี 2566 รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งจะสิ้นสุด เม.ย. 2566 ถ้าหากจำเป็นก็สามารถขยายมาตรการไปได้ และจะมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ผันผวน ใช้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่และค่าครองชีพสูงขึ้น ในกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย เช่น ลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% ถึงปี 2566 ขยายเวลาชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนอีก 1 ปี ถึงปี 2566 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย ก็จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ พร้อมทั้งจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3/2565

ส่วนกรณีที่จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษหรือไม่นั้น นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ถ้ามี ก็ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะมีการเรียกประชุม แต่ ณ ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการเรียกประชุม กนง. นัดพิเศษ เพราะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจยังอยู่ในคาดการณ์ ต้องดูบริบทเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบ ส่วนเงินเฟ้อระยะสั้นที่สูงแตะระดับ 7.66% ไม่เถียงว่าสูงและใกล้ระดับคาดการณ์ โดยหากปัจจัยทั้งหมดไม่เป็นไปตามนี้ก็อาจจะต้องมีการประชุมนัดพิเศษ แต่หากโดยรวมยังเป็นไปตามคาดการณ์ก็ไม่จำเป็นต้องประชุมนัดพิเศษแต่อย่างใด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password