ปตท.พร้อมคืนกำไร จากค่ากลั่นช่วยรัฐตรึงราคาน้ำมัน ชี้เป็นนโยบายต้องดูแลสังคม

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมคืนกำไร จากค่ากลั่นช่วยรัฐตรึงน้ำมัน เผยเป็นหนึ่งในนโยบาย การดูแลสังคมสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เรื่องของ ESG ยอมรับมีนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้น ปตท.มีความกังวล แต่สามารถชี้แจงได้

วันที่ 21 มิ.ย.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ มาตรการด้านพลังงาน โดยขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤตน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตร

ด้านกระทรวงพลังงาน รายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน ขณะที่ มาตรการประหยัดพลังงานภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น

รายงานข่าว จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือ พีทีที เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล และ เบนซิน จากโรงแยกก๊าซ เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ แต่ต้องมีความชัดเจน และอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาปตท. ให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีนักลงทุน และ ผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และได้รับการสอบถามจากนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศเข้ามาถึงนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ เพราะบทบาทหนึ่ง คือ การดูแลด้านสังคมสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยการทำธุรกิจต้องมีนโยบายเรื่องของ ESG (Environment-Social-Governance)

“เป็นเรื่องที่ต้องดูแล โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางแต่ประเด็นสำคัญสุด คือ การรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงาน เพราะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องสงคราม ก็คือ เรื่องของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมา ขณะที่กำลังผลิตไม่เพียงพอ ประกอบด้วยดังนั้น การประหยัด การลดความต้องการใช้ให้ลดลงมาก็จะเป็นเรื่องที่จะทำได้ นอกจากนี้ ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ เพราะธุรกิจโรงกลั่นมีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำ ก็เจอกับภาวะขาดทุน และในยามที่เกิดภาวะไม่ปกติเช่นปัจจุบันก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือ” แหล่งข่าว กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password