รมว.พาณิชย์ เกาะติดปมชายแดนเขมร งัดเกมรุก! เปิดจุดขายให้ผู้ค้า – เสริมบริโภคในประเทศ

“จตุพร” ถก “พาณิชย์จังหวัด – ทูตพาณิชย์” ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ-เกษตรกร ไม่ให้กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ประกาศเปิดจุดจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ดึงแบงก์รัฐร่วมปล่อยกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ

วันนี้ (14 ก.ค.2568 ) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ เรียกประชุมหารือ แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกรจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมี นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่ ทูตพาณิชย์ ณ กรุงพนมเปญและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายจตุพร เปิดเผยว่า จากข้อจำกัดในการผ่านเข้าออกจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาในขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรองรับผลกระทบผู้ประกอบการและเกษตรกรอย่างเต็มที่ อาทิ เชื่อมโยงสินค้าสำหรับตลาดภายในประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดย เปิดจุดจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้ง การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ตามนโยบาย “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” และ ดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้ เช่น การเชื่อมโยงการรับซื้อไปยังหน่วยงานหรือองค์กรณ์ต่างๆ และการรณรงค์บริโภคผลไม้ เป็นต้น ทำให้สถานการณ์ผลไม้ในช่วงที่ผ่านมาผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ในด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ประสานสถาบันการเงิน เช่น SME D Bank และธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว

นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ได้สั่งการให้เตรียมแผนบูรณาการทุกภาคส่วนโดยมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดชายแดน 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ รวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือตรงจุดและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สำหรับการขนส่งสินค้าไปยังกัมพูชาและการขนส่งผ่านแดนที่ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง ได้มอบหมาย กรมการค้าต่างประเทศหารือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุน และมอบหมายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศส่งเสริมสินค้าไทยในกัมพูชาควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ส่วนประชาชนในพื้นที่ชายแดนได้มอบหมายกรมการค้าภายในจัดคาราวานธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพ

ด้าน นายฉันทวิชญ์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทสินค้าและลักษณะของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างแม่นยำ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องโลจิสจิกส์และการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประสานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) มาร่วมสนับสนุนด้วย

ขณะที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานว่า แม้จะมีการระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภทในฝั่งกัมพูชา เช่น น้ำมัน พืชผัก และผลไม้ แต่สินค้าจำเป็นและสินค้าอุปโภคบริโภคยังสามารถส่งออกได้โดยขนส่งทางเรือหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางทางบก ซึ่งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับมาตรการอย่างเหมาะสม

ขณะที่ นายจตุพร ยังได้เน้นว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์นี้ได้โดยไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการค้าของไทย ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2567 การค้าระหว่างไทย-กัมพูชามีมูลค่ารวม 366,730 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนมีสัดส่วนสูงถึง 174,530 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 การค้าระหว่างไทย-กัมพูชาขยายตัวถึง 8.5% และการค้าชายแดนขยายตัวถึง 11.2%.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password