พาณิชย์ปลื้ม! ส่งออกปลายปี แรงดีไม่มีตก โตต่อเนื่อง 5 ด.ติด – เฉพาะพ.ย.67 ขยายตัว 8.2%

ผอ.สนค.เผย! ตัวเลขส่งออก พ.ย.2567 ยังขยายตัวแรงต่อเนื่องเดือนที่ 5 โต 8.2% มูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (849,069 ล้านบาท) มั่นใจหากตัวเลขส่งออก ธ.ค. 2567 เกิน 24,3000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะดันยอดส่งออกทั้งปี 5.2% หรือกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนปี 2568 ยังมีหลายปัจจัยให้ติดตามทั้งสงครามและนโยบาย ปธน.สหรัฐคนใหม่ พร้อมขอเวลาพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการส่งออกแค่ไหน มั่้นใจตัวเลขส่งออกในปีหน้า ขยายตัว 2-3% แน่!

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พร้อม ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมแถลงข่าว ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน และ 11 เดือนแรกของปี 2567 ณ ห้องพิพิธสมบัติ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (849,069 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 8.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก

ขณะที่ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.9

มูลค่าการค้ารวมในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ดุลการค้า ขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 849,069.3 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 867,456.4 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.2 ดุลการค้า ขาดดุล 18,387.1 ล้านบาท ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 9,695,455 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 10,032,550 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 337,096 ล้านบาท

ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่ามี มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.1 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และตุรกี) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 44.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 18.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี และไต้หวัน) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 24.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์)

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 20.6 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น แคนาดา และฝรั่งเศส แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และแองโกลา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 6.3 หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 23.3 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี แคนาดา และศรีลังกา) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 8.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.7

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 40.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 24.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 24.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี อินเดีย และเวียดนาม) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดเม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย และสาธาณรัฐเช็ก)

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.3 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอาร์เจนตินา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ กัมพูชา ไต้หวัน และบราซิล) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด  หดตัวร้อยละ 71.5 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และสาธารณเช็ก แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.5

อย่างไรก็ตาม ทาง สนค.ยังมั่นใจตัวเลขส่งออกในเดือน ธ.ค. 67 ยังขยายตัวเป็นบวกอยู่ โดยหากมีมูลค่ากว่า 24,3000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ตัวเลขการส่งออกไทยตลอดปี 67 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.2 หรือมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ภาพรวมการส่งออกในปี 2568 นั้น ยอมรับว่ายังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งสงครามในหลายประเทศยังไม่จบ และนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2568 ที่ต้องติดตามว่าจะมีนโยบายอะไรออกมากระทบต่อการค้าของโลกและของไทยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ทั้งกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยในเดือน ก.พ.2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะนำคณะเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่้อหารือแนวทางต่างๆ รวมกัน นอกจากนี้ สนค.ขอเวลาพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 นั้น จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อรวมถึงกระทบการส่งออกในปี 2568 มากน้อยแค่ไหนด้วย แต่สนค.ประเมินแล้วและยังมั่้นใจตัวเลขส่งออกในปี 2568 ยังขยายตัวได้แน่ร้อยละ 2-3.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password