พาณิชย์ยกทีมพบปะ ‘ผู้นำเข้ากล้วยหอมไทย’ ในญี่ปุ่น หวังแชร์ตลาดกล้วยหอม 1 ล้านตันต่อปี

เผย! คนญี่ปุ่นบริโภคกล้วยหอม 1 ล้านตันต่อปี แต่ไทยส่งออกได้แค่ 3,000 ตันต่อปี ด้าน “พิชัยส่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรีนำศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและโอกาสทางการค้าผลไม้ไทยในญี่ปุ่น ถึงเมืองโตเกียว ตั้งเป้าส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชตรงความต้องการของผู้บริโภคและตลาดแล้ว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและโอกาสทางการค้าผลไม้ไทยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด โดยระหว่างการเยือนกรุงโตเกียวทางคณะได้รับทราบปัญหาการนำเข้ากล้วยหอมจากไทย ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยหอมมากถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถส่งออกมาญี่ปุ่นได้เพียง 3,000 ตันต่อปีเท่านั้น

วันที่ 25 ธันวาคม 2567  นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายพาณิชย์) ประจำกรุงโตเกียว นางพิมใจ มัตสึโมโต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ และคณะ เข้าเยี่ยมชมขั้นตอนการนำเข้าสินค้าไทย รวมถึงรับชมการสาธิตขั้นตอนการบ่มกล้วยหอมเพื่อเร่งความสุก การคัดแยกสินค้าก่อนกระจายสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ณ ท่าเรือไดโกกุ นครโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น 

ในการนี้ Mr. Takayuki Kataoka ประธานกรรมการ บริษัท เบย์ คอมเมิร์ซ จำกัด พร้อมด้วย Mr. Hideyasu Kobayashi ผู้จัดการ และ Mr. Yoshida Ryosuke รองผู้อำนวยการอาวุโส โครงการการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership Program) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ให้การต้อนรับและเข้าร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมไทยให้มีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศญี่ปุ่น

นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าว กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกระทรวงที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรฐกิจโดยตรง และมีหน้าที่ในการจัดหาตลาดสำหรับสินค้าไทย ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรทั้งหมดด้วย หลังจากได้รับทราบความต้องการตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของผู้นำเข้าฝ่ายประเทศญี่ปุ่น พบว่า สาเหตุที่ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้มายังประเทศญี่ปุ่นได้ค่อนข้างน้อยและไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ คือ 

1. เกษตรกรไม่ทราบความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงไม่ทราบหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของประเทศปลายทาง จึงไม่สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับข้อกำหนดของตลาดปลายทาง

2. ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ส่งออกอย่างจริงจัง ทำให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อการส่งออกในบางฤดูกาล ราคาในแต่ละฤดูกาลจึงมีความผันผวนอย่างหนัก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าและผู้บริโภค

3. ขาดการส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ไทย อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้จะช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำไม่ให้ต่ำจนเกินไป และช่วยดึงปริมาณผลผลิตออกจากตลาดในลักษณะที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า อีกทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ไทย เป็นที่นิยมในต่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่าผลไม้สด การส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ 

เช่นกล้วยหอม ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกมายังประเทศญี่ปุ่นได้เพียง 3,000 ตันต่อปี น้อยกว่าโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลญี่ปุ่น หากเทียบกับความต้องการบริโภคที่มากถึง 1 ล้านตันต่อปี กล้วยหอมไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ซึ่งไทยเราเสียโอกาสทางการค้าเป็นอย่างมาก หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตให้มีมาตรฐานและปริมาณที่คงที่ ผมเชื่อว่ากล้วยหอมไทยจะกลายเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นชื่นชอบกล้วยหอมไทยมากกว่ากล้วยหอมประเทศอื่น เพราะกล้วยหอมไทยมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าและจัดเป็นสินค้าพรีเมี่ยม

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลราคาสินค้าเกษตร มีแนวทางในการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม เพื่อขยายปริมาณการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เนื่องจากขณะนี้มันสำปะหลังยังมีปัญหาเรื่องราคา กรมการค้าภายในจึงมีแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังมีทางเลือกในการสร้างรายได้ผ่านการปลูกกล้วยหอมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะใน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันได้มีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นการปลูกกล้วยหอมมากขึ้นแล้ว ซึ่งตลาดปลายทางกล้วยหอมมีตลาดที่แน่นอนและเกษตรกรขายได้ในราคาสูง

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนมกราคมปี 2568 กรมจะลงพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมารวมถึงแหล่งผลิตอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการปลูกกล้วยหอม เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการการส่งเสริมการเพาะปลูกกล้วยหอมเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจัง โดยแนวทางเบื้องต้นจะเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมหรือเกษตรกรที่มีความสนใจในการปลูกกล้วยหอมทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายกับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกกล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password