โครงการ CASE – กทม.และ 20 พันธมิตร จัดงาน”เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก”
โครงการพลังงานสะอาด (CASE) ผนึก 20 หน่วยงานพันธมิตร จับมือ กทม. ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในกิจกรรม ”เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก”
กรุงเทพฯ 25 มีนาคม 2566 – โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานพันธมิตร 20 หน่วยงาน จัดงาน “เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ระหว่างวันเสาร์ที่ 25 และวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2566 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ
ภายในงานมีกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลจากโครงการ CASE และกิจกรรมอีกมากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดไปสู่การรับมือปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนผ่านนิทรรศการ การออกบูธจากองค์กรภาคีเครือข่าย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมอง ตอบคำถามจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และตัวแทนพรรคการเมือง
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอาจทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นทะลุ 1.5°C ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุและภัยธรรมชาติอื่น ๆ บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขานรับกับการปรับเปลี่ยนเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคพลังงานซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงการประหยัดพลังงานจึงเป็นทางลัดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด โดยกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมแคมเปญวัน Earth Hour ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 20.30 -21.30 น. ร่วมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมืองทั่วโลก ซึ่งกิจกรรมนี้สะท้อนความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชน โดยในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษที่กิจกรรมดังกล่าวได้ต่อยอดและขยายไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือในการผลักดันเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลกเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”
วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงพลังของความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลกแล้ว ยังมุ่งหวังให้สาธารณะและผู้กำหนดนโยบายมองเห็นทิศทางและความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ดังที่ตัวแทนนักวิจัยโครงการ CASE ดร.สิริภา จุลกาญจน์ ได้เผยผลการศึกษา
“เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน 2050” สำหรับประเทศไทย ในเวทีสนทนา “Energy Conversation : เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นและตอบข้อกังวลต่อต้นทุนในการใช้พลังงานหมุนเวียนว่า “โครงการ CASE ได้ทำการวิจัยด้านพลังงานและนำเสนอเส้นทางที่ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายใน ค.ศ. 2050 โดยประเมินจากสมมติฐานที่ระบบไฟฟ้าดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำ (least cost optimization) และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยการจะไปสู่เป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ราคาในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่า และต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น แบตเตอรี่ ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) และการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์ นอกจากนั้น ภาคขนส่งยังต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้หากภาครัฐให้การสนับสนุนด้านพลังงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากการสนทนาเผยแพร่ผลการศึกษาจากทางวิชาการ ภายในงานยังมีวงเสวนาที่ชูประเด็น “เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไรให้เป็นธรรม” ร่วมจัดโดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด,สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) และ The Cloud เวทีทอล์ก “The Ener จิ้น’s Talk : เป้าหมาย Net Zero…สู่อนาคตพลังงานสะอาด” เพื่อเปิดมุมมองเรื่องการใช้พลังงานในเมือง และเปิดไอเดียภูมิทัศน์ของเทคโนโลยีพลังงานปัจจุบันโดย 2 วิทยากร คือ คุณพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคุณอธิป ตันติวรวงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Innopower และหัวข้อ “เปลี่ยนความเข้าใจผิดเรื่องการประหยัดพลังงาน” โดย รศ.ดร. แนบบุญ หุนเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสวนา “The Ener จิ้น’s Talk : การเปลี่ยนผ่านพลังงานบนความต้องการของประชาชน” ที่จะเปิดประเด็นประโยชน์และอุปสรรคจากการเดินหน้านโยบายด้านพลังงานสะอาด โดยตัวแทนภาคประชาชน นักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคม ก่อนจะปิดท้ายด้วยเวทีเสวนาพรรคการเมือง “ชวนพรรคร่วมคิด: ให้พลังงานเป็นมิตรต่อโลก ไปกับความต้องการของประชาชน”
เพื่อเปิดประเด็นและตอบคำถามจากประชาชนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่ก้าวทันกระแสโลกไปพร้อมกับความมั่นคงและเข้าถึงได้ด้านพลังงานของประเทศไทย ภายในงานยังมีการโชว์การแสดงหุ่นเงาเล่าเรื่อง เรื่องการเดินทางสู่อนาคตด้านพลังงาน โดยกลุ่ม Mommy Puppet และบูธของเครือข่ายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น Muvmi, Ari around, Flo ไอศกรีมไข่ผำ, สินค้ารักษ์โลก บูธ “แยกขยะ ลดโลกร้อน Zero waste โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร” และบูธนิทรรศการ “ร่วมจินตนาการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” รวมถึงนิทรรศการจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านพลังงาน อาทิ JGSEE และการไฟฟ้านครหลวง และกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกลุ้นรับของที่ระลึกจากโครงการ CASE และเครือข่ายตลอดงาน.