ธนารักษ์โปรโมท ‘พิพิธตลาดน้อย’ – ต้นแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน คู่อนุรักษ์วัฒนธรรม

อธิบดีกรมธนารักษ์ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” พาสื่อทัวร์ “พิพิธตลาดน้อย” หวังใช้เป็นต้นแบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่อนุรักษ์วัฒนธรรมและสังคมไทยสู่ความยั่งยืน พร้อเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้มชมฟรี! เช็ครายละเอียดด้านล่างได้เลย เผย! เตรียมเดินหน้านำที่ราชพัสดุทั่วประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ หนุนพิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ทุกแห่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พิพิธตลาดน้อย ย่านชุมชนตลาดน้อย กรุงเทพฯ, นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ร่วมพาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม พิพิธตลาดน้อย พิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งใหม่ของกรมธนารักษ์ หนึ่งในโมเดลของการนำที่ดินมาใช้เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสังคมให้คงอยู่ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่และชุมชน ทั้งนี้ เพื่อเชิดชูสถานที่สำคัญ ของดีของเด่น และอาหารอร่อยในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริม Soft Power และกระตุ้นการท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า พิพิธตลาดน้อยตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3870 โฉนดที่ดินเลขที่ 763 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 214.50 ตารางวา โดย กรมธนารักษ์ได้พัฒนาและปรับปรุงโรงกลึงขนาดใหญ่ทำชิ้นส่วนประกอบเรือ เครื่องจักรและโรงสีข้าว ภายหลังเลิกกิจการ พื้นที่ถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์และชาวชุมชนตลาดน้อย ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงนี้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการท่องเที่ยวและจัดแสดงเทศกาลการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนย่านตลาดน้อย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนอัตลักษณ์และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นำไปสู่ความภูมิใจและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตลาดน้อย ตลอดจนภารกิจของกรมธนารักษ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์ได้ออกแบบพื้นที่และอาคารที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยได้นำวัสดุไม้ของโรงกลึงเดิมนำกลับมาใช้ใหม่ ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2562 สถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ ประเภทอาคารสาธารณะ ภายในอาคารมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 พื้นที่สำหรับประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหรียญและของที่ระลึก รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนหรือกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ชั้นที่ 2 พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนย่านตลาดน้อย และชั้นที่ 3 พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการย่านเซียงกง อัตลักษณ์ชุมชนตลาดน้อย ตลอดจนมีพื้นที่ลานอเนกประสงค์ด้านหน้าอาคาร สำหรับจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนในโอกาสต่าง ๆ ที่หลากหลาย

โดยปัจจุบัน พิพิธตลาดน้อยเปิดให้บริการฟรี ในวันอังคาร – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 – 18.00 น. ทั้งนี้ พิพิธตลาดน้อย ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนตลาดน้อยที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะเป็นที่ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญ สถานที่ไฮไลต์ และของดีของเด่นของชุมชน และ กรมธนารักษ์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ พิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ทุกแห่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่งผลให้ พิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์ 5 แห่ง ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ ธนารักษ์จังหวัดขอนแก่น และพิพิธตลาดน้อย ได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่นระดับชาติประจำปี 2567 พิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ ประจำปี 2567 จากสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย โดยรางวัลนี้ถือได้ว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับชาติ ที่มอบให้เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ โดยมีการกำหนดให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนคณาจารย์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ ในวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เสนอรายชื่อและประวัติพร้อมเหตุผลครอบคลุมทั้งพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะฯ ยังพาคณะสื่อมวลชนเดินทางเยี่ยมชุมชนตลาดน้อย และไหว้ศาลเจ้าที่อยู่ในบริเวณชุมชน อาทิ ศาลเจ้าโจวซือกง เพื่อขอพรด้านสุขภาพ ต่อด้วยไหว้ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง(โรงเกือก) เพื่อขอด้านโชคลาภ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password