ตัวแทนสื่อฯร่วมภาคี สสส. ถกแก้ปม ‘สงกรานต์ V สงคราม+ความตาย’

สื่อมวลชนประชุมร่วมภาคี สสส.ถกปัญหาเทศกาลสงกรานต์ ปี 65 รุนแรงตายคาที่ เพิ่มขึ้นจากขับรถเร็ว แฉสูญเสียไม่ต่างจากสงคราม  15 ปีสงกรานต์ไทยตายไป 6,183 คน เจ็บอีกเกือบ 400,000 คน เรียกร้องสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ เพิ่มบทบาทท้องถิ่น บังคับใช้กฎหมายจริงจัง อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง   

เริ่มที่…

“2565 : สงกรานต์หรือสงคราม…แก้ปัญหาอย่างไรในมุมสื่อ” โจทย์คำถามที่ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนสื่อมวลชน ทั้งตัวแทนจากสื่อกระแสหลัก และกระแสรอง (ออนไลน์) เข้าร่วมประชุมโฟกัสกรุ๊ป ในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน Application  Zoom ด้วยหวังจะถอดบทเรียนเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผ่านการระดมความคิดเห็นองสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 21  เมษายน 2565 โดยมี นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ดังนั้น การเดินทางจึงมีเพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ ปี 2564 แต่ที่น่าเป็นห่วงคือความรุนแรงจากอุบัติเพิ่มขึ้นวัดได้จากการเสียชีวิตคาที่เพิ่มจาก 50 เปอร์เซ็นต์  เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากความเร็ว 56.8  เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ส่วน การดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับนั้นพบว่าคนที่บาดเจ็บ 1 ใน 4 พบแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือด แต่ภาพรวม 7 วันอันตราย การดื่มแล้วขับ ที่ทำให้เสียชีวิต ลดลงจาก 21.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 16.5 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เสียชีวิต  

ส่วน ยานพาหนะที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นกลุ่มหลัก รองลงมาคือ รถกระบะ ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงต่อจำนวนครั้งการเกิดเหตุ พบว่ารถกระบะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากว่าจักรยานยนต์ถึง  2.18 เท่า ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเรื่องของความเร็วและการใช้อุปกรณ์นิรภัยร่วมด้วย    โจทย์สำคัญ ที่ต้องหามาตรการป้องกัน คือ แนวโน้มปัญหาความรุนแรงอุบัติเหตุ ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในเทศกาลและช่วงปกติ    จำเป็นต้องมีมาตรการมาจัดการเรื่องนี้อย่างบูรณาการและเป็นระบบทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ทั้งในด้านกายภาพและด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสื่อมวลชนจะมีบทบาทกระตุ้นส่งสัญญาณให้มีการจัดการและปรับสภาพแวดในพื้นที่เพิ่มบทบาทด่านหน้าคือท้องถิ่นชุมชน หน่วยงานองค์กรต่างๆในการจัดการความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การลดความเร็ว ไม่ขับจี้ เว้นระยะห่าง ดื่มไม่ขับ และเพิ่มการใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย

ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล. )ที่ได้ทำงานบุญประเพณีปลอดเหล้าปลอดภัย กล่าวว่า หลายพื้นที่มีการปรับตัวโดยจัดงานประเพณีสงกรานต์เน้นการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยภาพรวมความปลอดภัยในเทศกาลสงกรานต์ปี นี้ถือว่าดีขึ้น อาจจะเป็นเพราะประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มกลายเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานกล้าที่จะออกมาสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ  ชุมชนหลายพื้นที่เข้มแข็งลุกขึ้นมาออกแบบและจัดการพื้นที่ของตนเอง  อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรง การทะเลาะวิวาทในหลายพื้นที่ อาทิ ที่มุกดาหาร นครราชสีมาและอีกหลายพื้นที่ รวมทั้งธุรกิจน้ำเมายังคงมีอิทธิพลและแทรกแซง นโยบายในหลายพื้นที่ แฝงตัวสนับสนุนหลักกับหน่วยราชการต่างๆ

ทั้งนี้ ปัญหาของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ หลายพื้นที่ขาดการทำงานเชิงรุกในจุดเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่เล่นน้ำหรือพักผ่อนของคนจำนวนมาก ขาดหน่วยงานหรือกลไก ในการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง ขาดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ร้านค้า ในพื้นที่ และยังพบว่าธุรกิจแอลกอฮอล์ยังคงเข้ามาส่งเสริมการตลาดโดยจัดให้มีลานเบียร์ในจุดที่ไม่มีการควบคุมดูแล   ระยะยาวต้องเปลี่ยนความคิดทำให้วัยรุ่นเห็นคุณค่าความหมายคุณค่าที่แท้จริงของงานสงกรานต์ เพราะพฤติกรรมของเยาวชนมีแนวโน้มจะออกมาใช้ชีวิตเล่นน้ำสงกรานต์ช่วงค่ำ-กลางคืนมากขึ้น

สอดคล้องกับผลสำรวจผลประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับ สสส. พบว่า ประชาชนร้อยละ 84.0 รู้สึกกังวลกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มากที่สุดรองลงมาคือ กังวลเรื่องอุบัติเหตุจากการเดินทางร้อยละ 82.7และกังวลเรื่องการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 76.6 กังวลเรื่องคนเมาร้อยละ 68.6 และมีถึงร้อยละ 97 เห็นว่าการจัดงานสงกรานต์แบบปลอดเหล้าทำให้รู้สึกปลอดภัย

ส่วน นางชุติมา บูรณรัชดา รองบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เสริมว่า ปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุไม่ใช่เฉพาะช่วงสงกรานต์แต่เกิดทุกวันตลอดทั้งปีตายไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกันตลอดทั้งปี  นอกจากปัจจัยเรื่องเมาและความเร็วแล้ว ปัญหาการก่อสร้างถนนหนทางทั่วประเทศที่มีก่อสร้างและกันพื้นที่ก่อสร้าง จนเหลือพื้นที่สำหรับยานพนะบนท้องถนนน้อยลงตลอดทั้งปี ก็มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุด้วย 

พร้อมให้ ข้อเสนอสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นั่นคือ การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและต่อสังคม มีการการบังคับใช้กฎหมายจริงจังจะต้องทำต่อเนื่องไม่ทำกันแบบไฟไหม้ฟาง  เช่นเดียวกันกับการทะเลาะวิวาทกันไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงสงกรานต์แต่เกิดขึ้นได้ทุกงานทั้งงานบวช งานบุญสาเหตุไม่ใช่มาจาก แอลกอฮอล์อย่างเดียว อาจเป็นเพราะนิสัยคนไทยหมั่นไส้กันง่ายพอเหล้าเข้าปากก็ขาดสติ บทบาทสื่อมวลชนจึงทำหน้าที่ในการสะท้อนมุมมอง สะท้อนเหตุการณ์ กระตุ้นเตือนสังคมอย่ามองว่าเป็นเรื่องชาชิน ปัญหานี้อยู่ที่คนรับผิดชอบในระดับโครงสร้าง ระดับนโยบายจะต้องเห็นความสำคัญและเอาจริงเอาจัง

ขณะที่สื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจ เช่น นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขมีการสรุปสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลังแล้วพบว่าคนไทยเสียชีวิตไม่ต่างจากสงครามในยูเครน คือนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดสงกรานต์ปี 2565 รวม 15 ปี  คนไทยตายไป 6,183 คน บาดเจ็บ 391,691 คน ต้องเข้าแอดมิดในโรงพยาบาล 73,548 คน ถ้าหากรวมเทศกาลปีใหม่  เทศกาลเข้าพรรษาและทุกๆวันคงมีจำนวนมหาศาล 

นายศักดา แซ่เอียว หรือเซีย การ์ตูนนิสต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เสนอว่า ต้องลดพื้นที่เล่นสนุกสงกรานต์ลงแล้วเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้ชุมชนจัดกิจกรรมงานบุญมากขึ้นชุมชนไหนทำดีไม่ตีกันไม่มีแอลกอฮอล์ก็ให้รางวัลระดับชาติไปเลย นอกจากนี้สสส.และภาคีควรทำงานกับผู้นำท้องถิ่นที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากขึ้น

ขณะที่ นายประเสริฐ เอี่ยมสนิทอมร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ข่าวอีสานไทยแลนด์ จากจังหวัดขอนแก่น  กล่าวว่า ควรแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษคดีเมาแล้วขับชนคนตายให้หนักกว่าเดิม และอยากให้กวดขันการดื่มแอลกอฮอล์นอกพื้นทีเล่นน้ำสงกรานต์ทั้งก่อนและหลังการจัดงาน 

ด้าน น.ส.กาญจนา นิตย์เมธา ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสปริงค์นิวส์ กล่าวว่า การรณรงค์และแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง  จริงจัง และยั่งยืน ที่ผ่านมาพอเกิดเหตุทุกคนตื่นตัวสนใจแต่หลังจากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิม

รวมถึงข้อเสนอจาก ตัวแทนสำนักข่าวยุทธศาสตร์ออนไลน์ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาในทุกครั้งของการมีเทศกาลสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ที่มีวันหยุดยาวๆ ติดต่อกันหลายวัน ว่า รัฐบาล รวมถึงส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ควรวางแผนล่วงหน้าในการรับมือกับเทศกาลต่างๆ เพื่อมิให้สถานการณ์นำไปสู่สภาวะ…สงคราม (ปัญหาการทะเลาะวิวาท) และความตาย (อุบัติเหตุ) เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่า เทศกาลจะเกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไหน และควรจะจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างไร

หนึ่งในข้อเสนอที่ว่า ก็คือ ให้แต่ละภาค แต่ละจังหวัด จัดแบ่งโซนสำหรับจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นมารองรับความต้องการในแต่ละเทศกาล เช่น โซนศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา โซนการแสดงและดนตรี โซนนวัตกรรมและเทคโนโลยี โซนครอบครัวและกลุ่มช่วงวัยต่างๆ โซนฮาร์ดคอร์ ที่เน้น สุราและของมึนเมา รวมถึงกิจกรรมที่เปิดให้มีการแสดงออกแบบไร้เงื่อนไข แต่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายและความสงบเรียบร้อย ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อ “แยกปลาออกจากน้ำ” วางกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ตรงกับกิจกรรมที่แต่ละโซนจัดขึ้น โดยลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการวางแผนรับมือกับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเอง ก็จะได้วางแผนเดินทางท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง ขณะเดียวกัน สื่อมวลชน ก็สามารถจะวางแผนการทำงานข่าวได้ตรงกับสายงานที่รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะคนบางกลุ่มที่ไม่รักษากติกา และสร้างปัญหากับโซนอื่นๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นประเด็นปัญหาส่วนน้อย ที่ง่ายต่อการวางแผนรับมือ ต่างไปจากปัจจุบันที่ไม่มีการแบ่งโซนการจัดงาน จึงทำให้คนทุกกลุ่มที่มีเป้าหมายในช่วงเทศกาลต่างกัน ต้องมารวมตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน กระทั่ง กลายเป็นประเด็นปัญหาเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password