พพ.นัด 11 เม.ย. ‘ถกธปท.-ธนาคารพาณิชย์’ ปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด แสนล. 

พพ.รุกหนัก เดินหน้าแผนลดใช้พลังงาน ดีเดย์! 11 เม.ย.นี้ นัดคุย “แบงก์ชาติ-แบงพ์พาณิชย์” ถกเงินกู้พลังงานสะอาด ดบ.ต่ำ 2% ให้ภาคเอกชน คาดมีความต้องหลายหมื่นถึงแสนล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท “อธิบดีฯประเสิรฐ” ลั่น! ไม่หวันเงินรัฐอัดใส่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะมาช้า พร้อมเดินหน้าโครงการ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” ระบุ! สร้างผลงานประจักษ์อัดเงินใส่ 500 ล้านผ่าน 3 โครงการหลัก ให้ผลประหยัดเงินจากเหตุจากลดนำเข้ามากถึงปีละกว่า 1.26 พันล้านบาท 

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 เมษายน 2565 นี้ ตนจะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 3-4 แห่ง ถึงการปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด อัตราดอกเบี้ยต่ำราว 2% ให้กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งที่ต้องการลดการใช้พลังงาน ทั้งนี้ ธปท.มีวงเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 สำหรับภารกิจนี้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และปล่อยสินเชื่อให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อต่อให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ คาดว่าจะมีความต้องการจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารสำนักงานและโรงงาน เบื้องต้นเชื่อว่าวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์จะเงินกู้ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้รวมกันหลายหมื่นจนถึงระดับแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พพ.เองก็มีแผนรณรงค์ให้ทั้งผู้ประกอบการข้างต้น เกษตรกร และประชาชนทั่วไป หันมาให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงาน โดยได้ดำเนินการจัดทำ โครงการ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” โดยหวังว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะลดการใช้พลังงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเองให้มากที่สุด

ก่อนหน้านี้ พพ.ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ใช้งบประมาณรวม 500 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเงินลงทุน (20-30%) ในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงงานและอาคาร, ปรับปรุงอุปกรณ์และระบบบริหารจัดการสำหรับการขนส่งสินค้า และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 900 ราย  มีผลประหยัดพลังงาน 84 ktoe หรือกว่า 1,260 ล้านบาทต่อปี  โดยผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการประกอบด้วย

1.โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 พพ.ได้เข้าไปสนับสนุนค่าลงทุนบางส่วน 20% -30%  ในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ให้แก่โรงงาน SMEs Startup ผู้ประกอบกาภาคเกษตร วงเงินสนับสนุนรวม  378 ล้านบาท มีสถานประกอบการได้รับการสนับสนุน 457 ราย ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 2,095 ล้านบาท ผลประหยัดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 20 ktoe ต่อปี  หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้เกือบ 1,000 ล้านบาท สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120,000 tCO2   

2.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ปี 2564  พพ.สนับสนุนค่าลงทุน 30% หรือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย มีผู้ได้รับการสนับสนุน 21 ราย คิดเป็นวงเงิน 20 ล้านบาท มีผลประหยัดพลังงาน 1.89 ktoe หรือคิดเป็นเงิน 36ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,000 tCO2 และกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนได้กว่า 72 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน วงเงินสนับสนุน 103 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ผ่านการพิจารณา 46 ราย  เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในภาคความร้อน แบ่งเป็น ชีวมวล 60 ktoe  และก๊าซชีวภาพ 2 ktoe เทียบเท่ากับ 220,000 ต้นไม้สับต่อปี

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม รวมกว่า 9,500 แห่ง จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ปี 2564 มีเป้าหมายประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 267 ktoe คิดเป็นเงินจำนวน 6,675 ล้านบาท , จัดทำ e-Service การบริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นคำขอและรับแจ้งผลการพิจารณาได้อย่างสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ทั้งด้านเอกสารที่เป็นกระดาษ การเดินทางมายื่นด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ และลดระยะเวลาดำเนินการ, การเปิดหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับผู้รับผิดชอบด้านพลังงานในกลุ่มโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ยังไม่มีหรือยังมีไม่ครบตามกฎหมายกำหนด

รวมถึงยังได้จัดทำ มาตรการช่วยเหลือหน่วยงานราชการให้ลดการใช้พลังงาน 20% ในอาคารราชการเข้าข่ายควบคุมจำนวน 900แห่ง และอาคารราชการนอกข่ายควบคุม 8,062 แห่ง โดยมีมาตรการ อาทิ  ด้วยการสนับสนุนให้มีการกระตุ้นเตือน, การอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแบบออนไลน์, ให้คำปรึกษาเชิงรุกในการจัดการพลังงาน, จัดตั้งศูนย์Hotline ให้คำปรึกษาการจัดการพลังงานตามกฎหมาย, สัมมนาชี้แจงการดำเนินมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ, ให้คำแนะนำโดยศูนย์บริการวิชาการทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น

การประหยัดพลังงานเป็นวิธีดีที่สุดในขณะนี้ ในการที่จะต่อสู้กับสถานการณ์ วิกฤติพลังงานให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะการประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีและเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว”  ดร.ประเสริฐ กล่าวและว่า แม้ในปีนี้ พพ.จะยังไม่ได้รับงบประมาณผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แต่ยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงานลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร/หน่วยงานที่ประหยัดพลังงานเองอธิบดี พพ. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการอาคารอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐาน Building Energy Code (BEC) ซึ่งจะบังคับใช้กับการออกแบบอาคารใหม่ หรือดัดแปลง ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปว่า ปัจจุบันมีอาคารของภาครัฐที่ผ่านการตรวจรับรองแล้ว 369 อาคาร ขณะที่อาคารของเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีก 322 อาคาร ทั้งนี้ รูปแบบอาคาร BEC จะกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างเฉลี่ยไม่เกิน 5% คืนทุนภายใน 3 ปี โดยเจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจะจ่ายค่าไฟลดลง ขณะที่ประเทศไทยจะประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% ทั้งนี้ ได้มีเป้าหมายภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวม 1.37 หมื่นล้านหน่วย หรือคิดเงินราว 4.7 หมื่นล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password