พ.พ.ดึงกรมภาษี ร่วมสร้างแรงจูงใจชวนเอกชนร่วมผลิตสินค้าประหยัดพลังงาน

กระทรวงพลังงาน ผนึก “กรมภาษี – บีโอไอ” สร้างแรงจูงใจด้านภาษี หนุนเอกชนไทยเดินหน้าสร้างผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ด้าน อธิบดี พ.พ. เผย! ตั้งคณะทำงานศึกษาแล้ว รอบทสรุปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณา และประเภทสินค้าในข่ายรับผลประโยชน์ คาดช่วยชาติประหยัดพลังงานในมากขึ้น ย้ำ! มาตรการภาษีหนุนกระแสประหยัดพลังงานเกิดขึ้นจริงในปี 66 นี้

ท่ามกลางความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนราคาขายปลีกของน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้งในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้ ภาครัฐ โดยเฉพาะ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหันมาให้ความสนใจกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะมีส่วนช่วยประหยัดพลังงานของประเทศ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน

นั่นจึงนำมาซึ่งการจัดทำ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดสลาก ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550) ของ พ.พ. ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด วันที่ 4 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพิ่งไปเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดสลาก ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550) ณ ห้อง GRAND A ชั้น 4 ร.ร.อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ

โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 200 คน และในปี 2565 นี้ พบว่ามีผู้ประกอบการรวม 93 ราย ที่ได้รับมอบโล่ฯ ในพิธีดังกล่าว ครอบคลุมสินค้าในกลุ่มสินค้าประเภทครัวเรือน วัสดุก่อสร้าง เครื่องยนต์การเกษตร และอุปกรณ์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

ดร.ประเสริฐ ย้ำว่า จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างกระแสความต้องการผลิตสินค้าที่จะมีส่วนช่วยประหยัดพลังงานขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่แนวทางการดังกล่าวเพื่อการแข่งขันในทางธุรกิจ ซึ่งสามารถช่วยลดภาระรายจ่ายในด้านพลังงานให้กับผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกับกระแสความต้องการของตลาดในปัจจุบัน  ซึ่ง พ.พ.เอง ได้ประสานงานไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึง กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร ในสังกัดกระทรวงการคลัง ก่อนหน้านี้ โดยคาดหวังจะใช้มาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจสำคัญในการจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนของไทยหันมาผลิตสินค้าที่จะมีส่วนช่วยประหยัดพลังงาน เพิ่มมากยิ่ง ๆ ขึ้นในอนาคตอันใกล้  

“ผมคงพูดในรายละเอียดได้ไม่มากนัก เพราะต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่ยืนยันว่าเราได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือถึงการกำหนดคุณสมบัติและประเภทของสินค้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการทางภาษี รวมถึงรูปแบบการสร้างแรงจูงใจทางภาษีว่าจะเป็นแบบไหน แต่ขอให้เป็นรูปเป็นร่างมากกว่านี้ก่อน จึงจะพูดในรายละเอียดได้ โดยเชื่อว่ามาตรการทางภาษีนี้จะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างแน่นอน” อธิบดี พ.พ. กล่าวและย้ำว่า

รัฐบาล โดยกระทรวงการพลังงาน และกระทรวงการคลัง คงต้องพิจารณาในเรื่องมาตรการทางภาษีที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการนั้น โดยพิจารณาถึงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของรายได้ภาครัฐและกำลังซื้อของภาคประชาชนประกอบกันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มความต้องการผลิตสินค้าประหยัดพลังงานในกลุ่มผู้ประกอบ และความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวในกลุ่มผู้บริโภค อยู่ในกระแสที่ค่อนข้างดีมาก ๆ ทุกฝ่ายอยากมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานให้กับประเทศชาติ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password