2 สว.หนุนแก้ พ.ร.ป. ปรับจริยธรรมต้องชัด ชี้! ไม่ควรยุบพรรคฯ
2 สว. “เทวฤทธิ์ – อังคณา” หนุนแก้ รธน.รายมาตรา โฟกัสปม “ยุบพรรค – จริยธรรม” ชี้! สร้างปัญหาต่อเนื่องนับแต่ยุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ย้ำ! ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน มิใช่ของนักการเมือง ระบุ! รอบจริยธรรม ปัญหาอยู่ที่การตีความ ต้องปรับให้ชัดเจน
กรณี พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน (พรรคประชาชน) และ ฝ่ายรัฐบาล (พรรคเพื่อไทย) เตรียมดำเนินการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง คุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึงแก้ไขกฎหมายยุบพรรค และการครอบงำพรรคนั้น ความเคลื่อนไหวล่าสุด ในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต่างมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างน่าสนใจ
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายข้างต้นของพรรคเพื่อไทยนั้น ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการยุบพรรค เนื่องจากเป็นปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ ไม่ควรมีโทษเหล่านี้ แต่หากมีข้อหา เช่น การล้มล้างการปกครอง การยุบพรรคก็ไม่ควรเป็นกระบวนการแรก หรือควรให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่การยุบทั้งพรรค เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของประชาชนคนไทย ส่วนรายละเอียดว่าจะแก้อะไรอย่างไรนั้นจะต้องนำมาหารือกัน
ส่วนที่มีคนวิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองนั้น ตนเชื่อว่า คนมักจะติดภาพว่าพรรคการเมืองมีเจ้าของ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีบางคนที่มีส่วนในการกํากับหรือกําหนดแนวทางของพรรคการเมืองบางพรรคได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะหายไปจากพรรคการเมือง สุดท้าย การที่พรรคหรือนักการเมืองจะได้มาซึ่งอำนาจ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอยู่ดี ส่วนตัวเห็นว่า การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐนูญจึงนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง แต่เป็นเรื่องของประชาชนคนไทยทุกคน
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะกรอบจริยธรรมของนักการเมือง ว่า ปัญหาของประมวลจริยธรรมอยู่ที่การตีความ เช่นในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องนามธรรม ฉะนั้นเมื่อมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงทําให้เกิดการตีความได้ไม่จำกัด นับเป็นเรื่องที่น่ากลัว ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว โดยเพิ่มคำอธิบายความว่าด้วยจริยธรรมให้รัดกุมมากขึ้น นอกจากนี้ คนตีความก็มีความสำคัญ เพราะจะต้องมีความเป็นธรรมมากๆ และเมื่อกฎหมายเปิดให้ใช้ดุลยพินิจ ก็เท่ากับอนุญาตให้เกิดการตีความที่กว้างขวาง
“ส่วนตัวมองว่ากฎหมายเรื่องนี้ ยังมีความสำคัญ อย่างตอนที่มีการร่างประมวลกฎหมายจริยธรรมขึ้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีโอกาสเข้าไปร่วมร่างด้วย โดยเสนอให้รวมกรณีการคุกคามทางเพศเข้าไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น รวมถึงการคบค้ากับคู่กรณี” นางอังคณา กล่าว.