ค้าปลีกแข่งดุ! งัด Junk marketing – ถามหา ‘ธรรมาภิบาล’ องค์กร-ผู้บริหาร

มูลค่าตลาดแต่ละปีกว่า 6 แสนล้านบาทของ “ธุรกิจค้าปลีก – ร้านสะดวกซื้อ” กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไร้สำนึกรับผิดชอบ “สวมรอย” ขาย “ของกิน – ของใช้” คุณภาพต่ำ ราคาถูก จากต่างแดน กระทบผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง เผย! 3 แนวรบ ‘Junk marketing’ เอาเปรียบและทำร้าย “สังคม – คู่แข่งธุรกิจ – ผู้บริโภค” แนะถามหา “ธรรมาภิบาล” จากองค์กรและผู้บริหารที่ไร้จรรยาบรรณ จากนี้…ใครกัน? จะเข้ามาแก้ปมปัญหานี้!!

โลกของการแข่งขันในเชิงธุรกิจการค้าและการตลาด โดยเฉพาะกับ “ร้านสะดวกซื้อ” ในประเทศไทย ที่พบว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดรวม (ทุกหมวด, รวมสินค้าอาหาร+เครื่องดื่ม) มากถึง 605,000 ล้านบาท เติบโต 5.7% จากปี 2566

ศูนย์วิจัย/วิเคราะห์ข้อมูลหลายสำนัก อาทิ KResearch, TTB Analytics ต่างคาดการณ์ในทิศทางเดียวกัน ทำนอง…ปี 2568 นี้ มูลค่าตลาดรวมจะเพิ่มเป็น 638,000 ล้านบาท เติบโต 5.3% จากปี 2567 

จำเป็นที่ ผู้ประกอบการทุกราย ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ แม้กระทั่ง “เจ้าตลาด” ต้องงัดทุกกลยุทธ์ทางการตลาด มาต่อสู้และแข่งขันกัน เพื่อแย่งชิง “ก้อนเค้ก” หรือ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” ให้มากที่สุด

บนการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หากทุกฝ่าย โดยเฉพาะ องค์กรธุรกิจ และ/หรือ ผู้บริหาร ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการยืนหยัดอยู่บนหลักการพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจตาม ข้อกำหนดของกฎหมาย, ระเบียบข้อบังคับ และ จริยธรรมในวิชาชีพ รวมถึง แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ…

– ต้องแสดงราคาชัดเจน ห้ามโก่งราคา

– ไม่ขายสินค้าที่มีข้อมูลหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริง

– สินค้าอุปโภคบริโภค (อาหาร ยา เครื่องสำอาง) ต้องมี อย. และไม่หมดอายุ

– ไม่จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น

– ไม่ตัดราคาแบบทำลายตลาด (Dumping) เพื่อกำจัดคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม

– ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น แถมของหมดอายุ หรือขายสินค้าขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผล

– ให้โอกาสชุมชนเข้าร่วมขายสินค้า (Local Vendor) เพื่อสร้างรายได้ท้องถิ่น

– มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดใช้ถุงพลาสติก, คัดแยกขยะ, บริหารพลังงาน

– ไม่ขายสินค้าที่ผิดศีลธรรมหรือจรรยาบรรณ เช่น บุหรี่เถื่อน เหล้าปลอม หรือสินค้าลามก

– ไม่ลอกเลียนแบบสินค้าแบรนด์อื่น เพื่อหลอกลวงลูกค้า

– เคารพสิทธิทางปัญญา เช่น รูปแบบบรรจุภัณฑ์, โลโก้, สูตรอาหาร

– มีระบบคืนสินค้า/รับเรื่องร้องเรียนอย่างโปร่งใส

– ไม่ละเลยผลกระทบต่อชุมชน เช่น เสียงดัง, ขยะ, พฤติกรรมพนักงาน

– ตรวจสอบแหล่งสินค้าให้ถูกต้องตามมาตรฐาน อย./มอก./ฮาลาล ฯลฯ

– ติดกล้องวงจรปิด

– ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียประจำวัน

– มีช่องทางร้องเรียน เช่น กล่องรับความคิดเห็น, QR Feedback

ประชาชน ในฐานะ “ผู้บริโภค” จะได้รับโอกาสและประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

แต่ความจริงที่น่าเศร้า! เมื่อต้องพบว่า…หลายกลยุทธ์ หลากวิธีการแข่งขัน ที่ผู้ประกอบการบางราย? ได้นำมาใช้ กลับไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจที่ดีสักเท่าใด?

อาจเป็นเพราะ…พวกเขาเล็กและใหม่เกินไปในธุรกิจนี้หรืออย่างไร? จึงมิอาจแข่งขันได้ตามภาวะปกติกับรายใหญ่ๆ ที่อยู่มาก่อน

บางค่าย? ต้องกระทำการบางอย่างเพื่อความอยู่รอด โดยไม่สนใจกติกา หรือข้อกำหนด ทั้งในเชิงข้อกฎหมาย จริยธรรมในวิชาชีพ และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

รายเล็กหลายแห่ง ต้องประสบปัญหา…ยอดขายที่มีไม่มาก ความถี่ในการระบายสินค้าที่มีน้อย ก่อเกิดปัญหาตามมา ทั้งในเรื่อง…การสต็อก และ การควบคุมคุณภาพของสินค้า รวมถึงยังต้องประสบปัญหาเรื่อง ระบบมาตรฐานที่ยังอ่อนด้อย ระบบ QA/QC ที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล ฯลฯ เหมือนเจ้าใหญ่ๆ ในตลาด

ยิ่งเมื่อต้องปัญหาจากกรณีที่บางสาขา “เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานนัก แต่จำต้องปิดตัวลงไปอย่างรวดเร็ว” 

ยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ อย่างที่สุด!

อีกหนึ่งทางออกของการต่อสู้และแก้ไขปัญหาข้างต้น นั่นคือ…การสร้าง House Brand เพื่อใช้เป็นแบรนด์ร้านค้าของตัวเอง สำหรับแข่งขันกับ แบรนด์ของ “คู่แข่งธุรกิจ”

สิ่งนี้…ถือเป็นเรื่องปกติในโลกของธุรกิจร้านค้าปลีกทั่วไป เช่นกัน ในประเทศไทย…ผู้ประกอบการรายใหญ่และเล็ก ต่างก็ทำกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก! หากแต่ละค่ายจะมี House Brand เป็นของตัวเอง

ยิ่งมีเยอะ ยิ่งก่อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ตั้งแต่… “ผู้บริโภค” ที่จะได้เลือกซื้อและใช้สินค้าคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ยัน “ผู้ประกอบการ OEM” ที่ได้รับการว่าจ้างให้ผลิตสินค้าในชื่อแบรนด์ของผู้ว่าจ้าง ไปยังจนถึง “หน่วยงานภาครัฐ” ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี เพื่อนำไปเป็นรายได้ของแผ่นดิน

ล่าสุด ที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับปมปัญหา “สงครามกำแพงภาษี” ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เนื่องเพราะปรากฏการณ์นี้ มันเกิดขึ้นมาก่อน แต่ได้สร้างปัญหาตามมาอย่างมากมาย กล่าวคือ…

ผู้ประกอบการบางแห่ง ไม่ยึดหลักการ “ธรรมาภิบาล” แต่ได้นำกลวิธี “ธุรกิจสกปรก” (Dirty Business) ผ่านการใช้แนวทาง “ทำการตลาดที่ไม่น่าสนใจ หรือไม่ส่งเสริมสินค้าที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค” (Junk marketing) มาใช้กันแล้ว กลวิธีที่ว่านี้ ประกอบด้วย…

1. การว่าจ้างให้โรงงานในต่างประเทศ ผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยใช้ House Brand ของตัวเอง และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เพื่อที่จะได้ “ขายตัดราคา” สินค้าของคู่แข่ง เนื่องจากมีต้นทุนสินค้า ที่แม้จะรวมค่าขนส่งไปแล้ว ก็ยังจะต่ำกว่าสินค้าแบบเดียวกันที่ผลิตในประเทศไทย

2.การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ (แบรนด์ต่างประเทศ) เข้ามาจำหน่ายกันแบบโต้งๆ โดยไม่สนใจว่า เจ้าของสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน รวมถึง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย จะได้รับผลกระทบอะไรและอย่างไรบ้าง?

3.อันตรายที่สุด! คือ การลักลอบนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค “คุณภาพต่ำ” หรือ “ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ” จากต่างประเทศ เข้ามา “ขายตัดราคา” ส่วนใหญ่จะใช้ ชื่อแบรนด์ของต่างประเทศ เลย และ หากนำมา “สวมตอ” ตั้งชื่อแบรนด์ให้ดูเหมือนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแล้วล่ะก็ มันจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อ “คุณภาพชีวิต” ของผู้บริโภคชาวไทยทันที!

ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ 1, 2 หรือ 3 ที่มีการนำเข้า และ/หรือ แอบลักลอบนำเข้าสินค้าฯ มาจำหน่ายในประเทศไทย ล้วนส่งผลร้ายต่อประเทศไทยในทุกมิติ จำเป็นที่ รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น…

กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่มีหน้าที่ดูแลการนำเข้าสินค้าและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่คอยดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้าและป้องกันการทุ่มตลาด

แม้กระทั่ง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องดูแลเรื่องสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค

ทุกฝ่ายจะต้องบูรณาการในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในสังคมไทย

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” มีโอกาสสนทนาสั้นๆ กับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะ ผู้กำกับดูแลกรมศุลกากร ก็ได้รับการยืนยันว่า…กรมศุลกากรยังคงบทบาทในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

โดยเฉพาะ สินค้าราคาถูกและไม่ได้มาตรฐานคุณภาพที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่า…อาจถูกนำมา “ทุ่มตลาด” เทขายในราคาถูกในประเทศไทย หลังจากที่ “ประเทศต้นทาง” ของพวกเขา ได้รับผลกระทบจาก นโยบาย “กำแพงภาษี” จากรัฐบาลสหรัฐฯ

กรมศุลกากร ในฐานะ “ประตู-ด่านหน้า” จำเป็นต้อง คุมเข้มสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็น…นโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

ก่อนหน้านี้… มีผู้ประกอบการ และเจ้าของแบรนด์สินค้าบางราย ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ในทำนอง…พบพฤติกรรมข้างต้น (1, 2 และ 3) ในร้านสะดวกซื้อบางแห่ง?

เมื่อ ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ออกแคมเปญอะไรมา รุ่งขึ้น! ร้านสะดวกซื้อรายที่ว่านี้เปิดปฏิบัติการ นำสินค้า ทั้งที่เป็น House Brand (แบรนด์สินค้าของตัวเอง) รวมถึง นำสินค้าในกลุ่ม (1, 2 และ 3) มาขายตัดราคา ทันที!

ก็อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ หากเป็น สินค้าในกลุ่ม House Brand ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้อง แต่ในทางกลับกัน หากเป็นสินค้าในกลุ่ม 1, 2 และ 3 แล้ว หายนะ…ก็จะเกิดขึ้นตามมาเช่นกัน!!!

คำถามคือ…เหตุใด? ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อดังกล่าว จึงหาญกล้าทำอะไรทำนองนี้ เพราะแม้จะมีสัดส่วนของ สินค้าที่วางบนเชลฟ์ (ชั้นวางของ) ไม่มากนักก็ตาม แต่ก็ไม่ควรทำ…

ที่ทำ…เป็นเพราะ พื้นฐานการเข้าสู่ธุรกิจร้านค้าปลีก แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งเล็กและใหญ่หรืออย่างไร?

หากพื้นฐานของ…เจ้าของ ผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหารระดับสูง มีประวัติการเป็น “นักธุรกิจที่ดี” และมี สำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและลูกค้า-ผู้บริโภค  อยู่ก่อนแล้ว การกระทำเช่นที่ว่านี้…ก็คงจะไม่เกิดขึ้น!

แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ด้วย กลวิธี “ธุรกิจสกปรก” (Dirty Business) ของ องค์กรธุรกิจ และ/หรือ ผู้บริหาร ที่ไร้จรรยาบัน และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยเลือกที่จะใช้แนวทาง “ทำการตลาดที่ไม่น่าสนใจ หรือไม่ส่งเสริมสินค้าที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค” (Junk marketing) จนส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น…

1.ผลกระทบต่อระบบการค้า การตลาด และธุรกิจที่ได้มาตรฐาน หรือที่ควรเรียกว่าเป็น “ธุรกิจสีขาว”  รวมถึงระบบเศรษฐกิจของไทย

2.ทำลายระบบการผลิต ซัพพลายเชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

3.สินค้าราคาถูก แต่มีมาตรฐานคุณภาพต่ำ ได้ทำร้าย “ผู้บริโภค” ในทางตรงและทางอ้อม

เรื่องพรรค์นี้…ใครจะต้องเข้ามาดูแล เพื่อลดผลกระทบของปัญหาการไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาลข้างต้นนี้???

รัฐบาล, หน่วยงานภาครัฐ (ที่เกี่ยวข้อง), สมาคมในองค์กรภาคเอกชน อาทิ สมาคมผู้ประกอบการ SME, สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฯลฯ, สังคมไทย ฯลฯ

หรือต้องให้ คนไทย…ผู้เป็นทั้ง ผู้บริโภคและลูกค้า คนที่เติมเงินให้กับระบบธุรกิจห้างค้าปลีก หรือร้านสะดวกซื้อ คอยดูแลกันเอง!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password