ก.คมนาคมร่วมทีมนายกฯเกาะติดบริหารจัดการน้ำ – เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม
“สุริยะ – มนพร” ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เร่งเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พร้อมรับฟังปัญหาและพบปะประชาชนในพื้นที่
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 5 – 6 พฤษภาคม 2567 ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตน ได้เข้าร่วมคณะตรวจราชการเพื่อติดตามการดำเนินงาน เร่งเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พร้อมรับฟังปัญหาและพบปะประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดย การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ เป็นการ ติดตามประเด็นเกี่ยวกับยาเสพติดและหนี้นอกระบบ การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่และการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและศักยภาพของพื้นที่ การขยายเขื่อนป้องกันตลิ่งและพนังกั้นน้ำ ปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งและถนนชำรุด การใช้บริการและความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ พร้อมรับฟังปัญหาและพบปะประชาชน โดยได้ติดตามการดำเนินโครงการด้านคมนาคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และพื้นที่ใกล้เคียงให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างมาก เป็นพื้นที่ที่สร้างงาน สร้างรายได้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
สำหรับในวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ตนพร้อมด้วยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 สาขาขอนแก่น และสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 กรมเจ้าท่า จะลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ ได้แก่ โครงการขุดลอกลำน้ำเสียว ที่ตำบลสระคู และตำบลดอกไม้ อำเภอสุวรรณภูมิ โครงการขุดลอกต่างตอบแทน และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำ แก้ไขและป้องกันการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำชี และป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำมูล
นอกจากนี้ จะได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด อาทิ การขยายทางหลวงหมายเลข 2044 สายร้อยเอ็ด – อำเภอโพนทอง ตอนตำบลหนองดง – อำเภอโพนทอง จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร การขยายคันทางและก่อสร้างเกาะกลางถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ และการโอนย้ายทางหลวงท้องถิ่นสาย อบจ.รอ.1011 จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดให้อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมทางหลวง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมโยงการเดินทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ด้าน นายสุริยะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ตนและนางมนพรได้ร่วมคณะของนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามประเด็นการขยายเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชีและการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับ การแก้ไขปัญหาการจราจรและรองรับการเดินทางในจังหวัดร้อยเอ็ดและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสะดวก ปลอดภัย นั้น แขวงทางหลวงชนบทร้อยเอ็ดได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 85 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงผิวจราจรและขยายไหล่ทาง ถนนสาย รอ.4065 แยก ทล.2044 – บ้านชูชาติ อำเภอธวัชบุรี ระยะทาง 8.550 กม. พร้อมเครื่องหมายจราจร ไฟฟ้าแสงสว่างและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างตัวเมืองร้อยเอ็ดไปยังหมู่บ้านและอำเภอต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และท่าอากาศยานร้อยเอ็ดได้อย่างดี
นอกจากนี้ แขวงทางหลวงยโสธรได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2116 พร้อมวางระบบระบายน้ำสองข้างทางและใต้ผิวทาง ขยายช่องจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร และก่อสร้างเกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median) พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมทางหลวง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
ขณะที่ นางมนพร กล่าวเสริมว่า ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและพื้นที่ใกล้เคียงได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ต้องขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนก็ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่ง กระทรวงคมนาคมได้เสนอของบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชีในพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 6 ตำบลธงธานี อำเภอธวัชบุรี และพื้นที่หมู่ 3 บ้านบุ่งค้า ตำบลพระธาตุ อำเภอเชียงขวัญ รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการขุดลอกลำน้ำเสียว โครงการขุดลอกลำเสียวน้อย โครงการขุดลอกต่างตอบแทนในลำพลับพลา โครงการขุดลอกต่างตอบแทนในแม่น้ำชี และโครงการขุดลอกต่างตอบแทนในลำน้ำตาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย
พร้อมกันนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 สาขาขอนแก่น และสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 กรมเจ้าท่า บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยให้พิจารณาแผนงานโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำที่มีปริมาณมากในฤดูฝนเพื่อสำรองไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีด้วย.