แตกหัก! ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันไม่ลดดอกเบี้ย ตามที่ นายกฯร้องขอ รับมีแรงกดดันทางการเมืองสูง
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ พูดแล้วเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต ย้ำไม่ควรเร่งลดดอกเบี้ย พร้อมยอมรับมีแรงกดดันทางการเมืองสูง ระหว่าง รัฐบาล กับ ธนาคารกลาง ยืนยันไม่ประชุม กนง.นัดพิเศษ ตามที่ นายกฯ เรียกร้อง ชี้ เป็นการสวมหมวก ซึ่งมีบทบาทต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย
วันที่ 22 ก.พ. 2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ สำนักข่าวนิกเกอิ (Nikkei Asia) โดยระบุว่า ธนาคารกลางไม่ดันทุรัง (not dogmatic) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงในรอบ 10 ปี แต่เรียกร้องให้พิจารณาตัวเลขล่าสุด ที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า
“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่รองรับการเติบโตที่ช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว และว่า แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกัน 4 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว แต่ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ที่ขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องอีกครั้ง ให้ ธปท.จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไป ในวันที่ 10 เม.ย.2567 นั้น เราทำไม่ได้
ขณะเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ว่า “เป็นมืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ทัศนคติของรัฐบาลต่อธนาคารกลางทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“มีความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางซึ่งยังคงอยู่ตรงนั้นเสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย” ผู้ว่า ธปท. กล่าว.