“เศรษฐา” ปัดตอบ ความเห็น “กฤษฎีกา” ขณะ “จุลพันธ์” แจงยิบ ปมกู้5แสนล้าน เป็นหน้าที่รบ.
นายกฯ ปัดตอบความเห็นกฤษฎีกา ส่วนโฆษกรัฐบาล วอนสังคมวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ “จุลพันธ์” แจงยิบกฤษฎีกาตอบปมกู้5แสนล้าน ยันเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องทำให้เข้ากรอบกฎหมาย
วันที่ 9 ม.ค.2567 ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุม ครม. จะมีการพูดคุยเรื่องความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เดี๋ยวออกมา”
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยืนยันรัฐบาลพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย รับฟังความเห็นจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และประชาชนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจ เข้าใจในแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการทำงานเต็มระบบ พัฒนาเต็มสูบ เต็มศักยภาพ
“รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจของประเทศ ต้องการนำประเทศออกจากหล่มทางเศรษฐกิจ ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังศักยภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งระบบ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย ข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง ทำความเข้าใจให้ทุกส่วนเข้าใจการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้ขอขอบคุณการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันเดินหน้า พัฒนาชาติบ้านเมือง” นายชัย กล่าว
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวการกู้เงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า กรณีที่กฤษฎีกาตอบกลับมานั้น เป็นการส่งความเห็นตามข้อกฎหมาย ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่ากฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่าจะกู้ได้ หรือไม่ได้ แต่เป็นเพียงการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังและนำไปปฏิบัติตามให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนด
“กฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่า Yes หรือ No เขาแค่ส่งความเห็นตามข้อกฎหมาย แต่ถามว่าเขาห้ามทำหรือไม่ มันก็ไม่ใช่ แต่เขาก็ไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติ สิ่งที่กฤษฎีกาบอกมาก็เป็นในเรื่องของตัวข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เรารับฟังที่รัฐบาลต้องไปปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปทำให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายกำหนด ต้องทำให้เข้าเงื่อนไข” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ตามข้อสังเกตของกฤษฏีกานั้น ยังไม่ได้มีการหารือในส่วนนี้ โดยคงต้องรอการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ทก่อน หลังจากนั้นหากคณะกรรมการฯ มีคำสั่งอะไรออกมาค่อยว่ากันอีกครั้ง ส่วนระหว่างนี้อยากให้รอฟังความชัดเจนก่อน
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนข้อสังเกตเรื่องการกู้เงินจะต้องเป็นไปตามความจำเป็น เช่น เศรษฐกิจวิกฤตนั้น ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อสังเกตที่กฤษฎีกาให้มา ซึ่งรัฐบาลต้องชี้ให้เห็นว่ามันวิกฤต โดยผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจวิกฤต ซึ่ง รมช.การคลัง ระบุว่า แล้วอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต.