นายกฯ เปิดโครงการส่งเสริม ‘ซอฟต์พาวเวอร์ เชฟชุมชน’ สร้างรายได้ 3.5 พันล้าน

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดงาน “Soft Power Food กับการพัฒนาประเทศไทย” สร้างเชฟอาหารไทย เป็นทูตวัฒนธรรม เผยแพร่สู่สากล สร้างรายได้ 3,500 ล้าน

วันที่ 19 ธ.ค.2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดตัวโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร เดินหน้านโยบาย One Family One Soft Power : OFOS สอดรับการส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) จากนโยบายดังกล่าว นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ
ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินโครงการผ่าน 4 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย

1) ยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 3) ยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน และ 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้สานต่อความสำเร็จด้วยแผนงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) คาดสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศกว่า 3,500 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบาย One Family One Soft Power : OFOS ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 14 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ออกแบบ กีฬา ศิลปะ ศิลปะการแสดง หนังสือ อาหาร แฟชั่น เฟสติวัล เกม ดนตรี ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม Wellness โดยมีต้นน้ำที่สำคัญคือการสร้างคน ต้องมีการสร้าง “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” ให้ได้มากที่สุด และปลายน้ำด้วยการนำเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะอาหารไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน แต่ยังเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนไทยได้อย่างชัดเจนจากรากฐานสู่ความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผ่านแผนการดำเนินงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570)

ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารไทยในหลากหลายมิติ ด้วยการเชื่อมโยงระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สมบูรณ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารไทย เป้าหมายสำคัญของแผนงานนี้คือการสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกระดับ ตั้งแต่การสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง ไปจนถึงการเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) วางแนวทางการสร้างและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ อันประกอบด้วย 5 เสาหลัก คือ 1) ศึกษาและพัฒนาทรัพยากร และทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ 2) พัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย 3) พัฒนาธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถของซอฟต์พาวเวอร์ไทย 4) ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล 5) สนับสนุนปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหารของดีพร้อม ประกอบไปด้วยการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมสำคัญ ดังนี้ 1) การยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพอาหาร พร้อมได้ใบรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพผู้ปรุงอาหารมืออาชีพ (เชฟ) ได้ 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย

ด้วยการคัดเลือกชุมชนเป้าหมาย เพื่อนำมาเสริมองค์ความรู้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้มีศักยภาพสู่การเป็น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ต่อไปในอนาคต 3) การยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องมาตรฐาน และส่งเสริมให้ชุมชนใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้แก่อาหารชุมชน รวมถึงส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรแต่ละภูมิภาคในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า และ 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพธุรกิจอาหาร ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี มาตรฐาน ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล

โครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างชื่อเสียงให้กับอาหารไทยในเวทีโลก แต่ยังเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับพี่น้องคนไทยทุกคน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยในตลาดโลก ตอกย้ำถึงความสำคัญของอาหารไทยในระดับสากล ซึ่งโซนไฮไลต์ภายในงาน ประกอบด้วย

โซน 8 Food Station ที่นำเสนอ 16 เมนูสุดพิเศษ โดยเชฟเซเลบริตี้ชื่อดัง ที่มารังสรรค์เมนูที่อยู่ในหลักสูตรพัฒนาเชฟให้ได้ชิมกันในงาน โซนศูนย์อัจฉริยะด้านอาหาร นำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบแปรรูปจากชุมชน ที่แสดงถึงนวัตกรรมและศักยภาพของอาหารท้องถิ่น โซนร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) เสิร์ฟจริง ชิมจริง กับ 4 เมนูเด็ดที่รังสรรค์โดยชุมชนดีพร้อมตัวอย่างจาก 4 ภาค อีกทั้งยังมีโซนนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนที่นำเสนอเครื่องดื่มสุดสร้างสรรค์จากมืออาชีพ รังสรรค์เมนูสูตรพิเศษ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสความโดดเด่นของเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่หลากหลาย

นอกจากการเปิดตัวโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหารแล้ว ภายในงานยังได้จัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กับ หน่วยงานภาคีเครือข่ายอีก 7หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2) คณะกรรมการอาชีวศึกษา 3) กรมอนามัย 4) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 5) สถาบันคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 6) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และ 7) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหาร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password