‘เศรษฐา’ โอ่กลางสภาฯ มั่นใจ ‘สหรัฐ-จีน’ ใช้แลนด์บริดจ์หนุนการค้าโลก
“นายกฯเศรษฐา” มั่นใจโครงการแลนด์บริดจ์ได้แรงหนุนจาก 2 มหาอำนาจต่างขั้ว “สหรัฐ – จีน” ย้ำ! รัฐบาลไม่เพิกเฉยเสียงของคนในพื้นที่ เผย! ซาอุดิอาระเบีย จองคิวลงทุนผุดโรงกลั่นน้ำมัน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบด้านอาหารให้ไทยและโลก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงตอนหนึ่งระหว่างร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 เนื่องจาก ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ และเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว
โดยย้ำว่า โครงการแลนด์บริดจ์เกิดจากที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้า หลายประเทศจึงมีความประสงค์จะตั้งโรงงาน เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับปัจจุบันช่องแคบมะละกาแออัดและเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เรือสินค้ากินเวลาเข้าคิวเพื่อส่งสินค้า และอีก 10-15ปีข้างหน้าปริมาณการส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นอีกมโหฬารดังนั้น ประเทศไทยจึงเสนอตัวทำแลนด์บริดจ์ เพื่อแบ่งเบาภาระและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการส่งผ่านน้ำมันจากทั่วโลกทางช่องแคบมะละกา 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าในอนาคตช่องแคบมะละกาเกิดคับแคบการขนถ่ายสินค้าก็จะเกิดปัญหา ประกอบทั้งจุดยืนไทยมีความเป็นกลาง ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของอเมริกาและจีนมีมากขึ้น การที่เราเสนอตัวเพื่อให้โลกทั้งโลกเชื่อมเข้าหากัน ก็จะทำให้จีน อเมริกา ใช้ตรงนี้เป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าได้เป็นอย่างดี
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่เราก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักธุรกิจทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการเมกะโปรเจ็คที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ แลนด์บริดจ์ยังอาจทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย อยากลงทุนสร้างโรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันและคลังน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน นอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เรายืนอยู่บนโลกบนความขัดแย้ง ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยถูกยกระดับขึ้นมาได้” นายเศรษฐา ระบุ.