เลขาฯ สป.ยธ. งง! คำพิพากษา “คดีน้องชมพู่” ยัน “ความเชื่อ” ไม่ใช่ “ความจริง”

เลขาฯ สป.ยธ. ชี้ ‘ลุงพล’ ไม่ได้ฆ่า ‘น้องชมพู่’ เพราะศาลพิพากษาว่า ‘ประมาททำให้ตาย’ แต่ประมาทอย่างไร ยัง งง! ยัน ‘ความเชื่อ’ ไม่ใช่ ‘ความจริง’ และ ‘พิรุธ’ ไม่ใช่ ‘ความเท็จ’ แม้แต่อธิบดีผู้พิพากษาและหัวหน้าศาลฯก็ยังมี ‘ความสงสัย’ให้ยกฟ้อง

วันที่ 22 ธ.ค.2566 พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวถึงกรณี ศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพาษาลงโทษจำคุก นายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” เป็นเวลา 20 ปี ว่า ข้อเท็จจริงคำพิพากษาไม่ได้ลงโทษลุงพลในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่น ตามข้อกล่าวหาของตำรวจและคำฟ้องของอัยการ แต่ลงโทษความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย และพรากเด็กไปจากผู้ปกครองฯ

“แต่ปัญหาที่ผู้คนสงสัยกันมากก็คือ ได้พบพยานหลักฐานอะไรที่สามารถรับฟังได้อย่างสิ้นสงสัยว่าลุงพลเป็นผู้กระทำความผิดทั้งสองข้อหานั้น เพราะการที่ตำรวจกล่าวหาว่าลุงพลแบกหรือนำพาน้องชมพู่อายุ 3 ขวบขึ้นไปทิ้งไว้บนเขาโดยปราศจากผู้ดูแล ย่อมเป็นการฆ่าโดยเจตนาแบบเล็งเห็นผล และไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยซ้ำ ไม่ใช่การกระทำประมาทอย่างแน่นอน”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า แต่การแบกหรืออุ้มตัวน้องขึ้นไปใช้เวลานานนับชั่วโมง นอกจากจะไม่มีใครพบเห็นสามารถเป็นพยานยืนยันการกระทำผิดได้แล้วการสัมผัสเนื้อตัวกันขนาดนั้น แต่การเก็บพยานหลักฐานกลับไม่พบดีเอ็นเอของลุงพลบนร่างกายหรือเสื้อผ้าของน้องชมพู่ที่ควรจะมีติดอยู่แม้แต่น้อย นั่นย่อมหมายถึงทั้งสองคนไม่ได้มีการสัมผัสตัวกันไม่ว่าจะรูปแบบใดมิใช่หรือแม้กระทั่งความผิดฐานพรากเด็กไปจากบิดามารดา

“มีหลักฐานพยานบุคคลหรือวัตถุอะไรที่รับฟังได้ว่าลุงพลเป็นคนนำตัวน้องชมพู่ไปจากบ้านโดยพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่ยินยอม นอกจาก “ความเชื่อ” ที่ว่า ไม่มีใครได้ยินเสียน้องร้อง ฉะนั้น คนที่มานำเอาตัวไปต้องเป็นคนที่คุ้นเคย ซึ่งในหมู่บ้านมีอยู่ประมาณ 15 คน และทุกคนแสดงหลักฐานที่อยู่ในเวลาเวลาที่น้องหายไปได้ยกเว้นลุงพลคนเดียวที่แสดงไม่ได้ ถือว่ามี “พิรุธ”แต่ “ความเชื่อ” ไม่ใช่ “ความจริง” และ “พิรุธ” ก็ไม่ใช่ ความเท็จ”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวอีกว่า ตามหลักกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ รัฐจะนำความเชื่อและพิรุธมาเป็นเหตุผลในการลงโทษหรือแม้กระทั่งกล่าวหาใครในทางอาญาไม่ได้ ป.วิ อาญา มาตรา 227 บัญญัติไว้ชัดว่า จะต้องแน่ใจว่ามีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นโดยปราศจากข้อสงสัยแต่นี่แม้แต่ประเด็น ความตายของน้องชมพู่เกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือไม่ ก็ยังเป็นแค่ “ความเชื่อ” ของตำรวจ ว่า น้องเดินขึ้นไปถึงจุดที่พบศพตามลำพังไม่ได้ ต้องมีคนพาขึ้นไปอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่ “ความจริงแท้แน่นอน” แต่อย่างใด เพราะแม้จะขึ้นไปยาก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่น้องสามารถเดินขึ้นไปได้ในภาวะที่ไม่ปกติ จำเป็นต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดตามสัญชาติญาณ “เกินจินตนาการของคนปกติทั่วไป”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า “ความเชื่อ” เช่นนั้นนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายกันจนวุ่นวายไปทั้งหมู่บ้านและตำบลใครพูดหรือให้การสับสน เพราะถูกซักถามกันหลายหนหลายคน ก็จะถูกสรุปว่า “มีพิรุธ” น่าเชื่อว่าเป็นคนร้ายที่ฆ่าน้องชมพู่ตาย เป็นคนนำตัวไปปล่อยทิ้งไว้บนภูเขา แต่เมื่อไม่สามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันความผิดเรื่องเจตนาฆ่าตามข้อกล่าวหาและคำฟ้องได้ ทำให้ศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษลุงพลในความผิดฐานนี้

“สุดท้าย คดีกลายเป็นถูกชี้ว่าลุงพลกระทำประมาทเป็นเหตุให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย แต่ประมาทอย่างไร มีพยานหลักฐานอะไร นอกจากการอาศัย “ความเชื่อ” และ “พิรุธ” ก็ไม่ได้มีใครออกมาอธิบายให้ผู้คนเข้าใจจนสิ้นสงสัยแต่อย่างใด แม้แต่อธิบดีผู้พิพากษาและหัวหน้าศาลจังหวัด ก็ยังมี “ความสงสัย” ได้บันทึกความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาว่า “คดีมีเหตุอันควรสงสัย” ควรยกประโยชน์ให้จำเลยไปด้วยการพิพากษายกฟ้อง”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password